“การปลูกป่า” ที่ได้มากกว่า “ป่า” แต่การมีส่วนร่วมจะเกิดความรักและหวงแหนต้นไม้ที่ตนเองปลูกและร่วมกันดูแลรักษา ตลอดจนได้รับประโยชน์จากป่าที่ปลูก
นางนันทนา บุณยานันต์ โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้เตรียมวางแผนฟื้นฟูป่าภาคเหนือที่ถูกไฟไหม้ รวมถึงการเชิญชวนให้ประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมกันปลูกต้นไม้พร้อมกันทั่วประเทศ โดยเชิญชวนให้ประชาชนเริ่มปลูกตั้งแต่ วันที่ 6 พฤษภาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ เป็นช่วงต้นฤดูฝนมีความเหมาะสมกับการปลูกป่า ต้นไม้มีโอกาสรอดตายสูง ซึ่งในปี ๒๕๖๓ กรมป่าไม้มีแผนการเพาะชำกล้าไม้สำหรับแจกให้ประชาชนปลูกทั่วประเทศ จำนวน ๗๙ ล้านต้น โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้มีกล้าไม้พร้อมสนับสนุนการปลูกในช่วงวันต้นไม้ประจำปีของชาติทั่วประเทศ จำนวน 10 ล้านกล้า และการปลูกต้นไม้ดังกล่าวเป็นการ “ปลูกป่าประชาอาสา” ซึ่งมิได้ใช้งบประมาณปกติสำหรับการปลูกป่าของกรมป่าไม้แต่อย่างใด “การปลูกป่าประชาอาสา” ในครั้งนี้มิได้คำนึงเพียงมุ่งจะเพิ่มพื้นที่ป่าเท่านั้น แต่การที่ประชาชนในพื้นที่มามีส่วนร่วมปลูกป่า จะเกิดความรักและหวงแหนต้นไม้ที่ตนเองปลูก และร่วมกันดูแลรักษา ตลอดจนจะได้รับประโยชน์จากป่าที่ปลูก ดังนั้นกรมป่าไม้ได้กำหนดตามหลักวิชาการให้มีการปลูกต้นไม้ ๒ กลุ่ม คือชนิดไม้ท้องถิ่นเป็นไม้โครงสร้าง หรือชนิดไม้ที่เคยขึ้นอยู่เดิมในแต่ละพื้นที่ที่เป็นไม้เบิกนำโตเร็ว และชนิดไม้ที่ชุมชนใช้ประโยชน์ หมายถึง ชนิดไม้ยืนต้น ไม้ขนาดกลาง หรือไม้พุ่ม รวมถึงไม้ไผ่ที่ชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนด้านบริโภค ไม้ใช้สอย ไม้พลังงาน (กิ่ง ก้าน ไม่ตัดต้น) และสมุนไพรโดยให้พิจารณาคัดเลือกชนิดให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และตรงตามความต้องการของชุมชน
โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า การเกิดไฟป่าในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์จุดไฟเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ เช่น การหาของป่า การล่าสัตว์ หรือการลุกลามจากการเผาในพื้นที่เกษตร และรวมถึงการจุดไฟเผาป่าเพื่อหวังผลการขยายพื้นที่ครอบครองการใช้ประโยชน์ สืบเนื่องจากปีนี้ในพื้นที่ป่าภาคเหนือที่ถูกไฟไหม้นั้น จากข้อมูลสถิติการปฏิบัติควบคุมไฟป่าของหน่วยดับไฟป่ากรมป่าไม้ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 พบว่าได้ดำเนินการควบคุมไฟป่าไปแล้ว จำนวน 63,386 ไร่ ซึ่งพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่ จำนวน 56,704 ไร่ (ข้อมูลเดิม ณ วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๓ มีจำนวน ๕๕,๒๖๖ ไร่) อยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ จ.น่าน และจ.ตาก และจากการแปลพื้นที่เผาไหม้จากภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง (Sentinel-2) ของสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ พบพื้นที่เผาไหม้ทั่วประเทศ จำนวน 36.07 ล้านไร่ พื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตป่า จำนวน 18.69 ล้านไร่ พื้นที่เผาไหม้ในเขตป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 17.38 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 9.68 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่เผาไหม้ในป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวส่วนใหญ่ จำนวน 6.14 ล้านไร่ อยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พื้นที่เผาไหม้แต่ละพื้นที่จะมีระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ซึ่งมีอยู่ ๓ ระดับ คือ รุนแรงมาก ปานกลาง และเล็กน้อย สำหรับพื้นที่เผาไหม้ที่มีความเสียหายระดับรุนแรงต้องเร่งปลูกฟื้นฟูป่าโดยเร็ว ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ที่จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูป่าที่ถูกไฟไหม้ใน 9 จังหวัดภาคเหนือมีจำนวนประมาณ 49,000 ไร่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถฟื้นสภาพได้ตามธรรมชาติ ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา และรวมถึงพื้นที่บุกรุกแผ้วถางที่มีการเผาร่วมด้วย แต่เนื่องจากในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ กรมป่าไม้มิได้ตั้งงบประมาณในการปลูกพื้นฟูรองรับไว้
ด้วยเหตุนี้จึงรณรงค์เชิญชวนให้มีการปลูกป่าในรูปแบบประชาอาสา สำหรับพื้นที่ที่เหลือเป็นพื้นที่เผาไหม้ระดับปานกลาง และเล็กน้อย จำนวน 6.09 ล้านไร่ ทาง กรมป่าไม้จะปล่อยให้ฟื้นตัวตามธรรมชาติต่อไป พร้อมทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่คอยลาดตระเวน ตรวจตราเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีผู้บุกรุกเข้ามายึดถือครอบครองในพื้นที่ไฟไหม้ดังกล่าวได้ ดังเช่น การจัดกิจกรรมปลูกฟื้นฟูป่าในพื้นที่ถูกไฟไหม้ของจังหวัดเชียงใหม่ ทางจังหวัดมอบหมายให้นายอำเภอทุกอำเภอเป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ร่วมกันปลูกป่าประชาอาสา โดยกำหนดวันดีเดย์ เริ่มปลูกในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ การจัดกิจกรรมปลูกป่าในครั้งนี้ภายใต้ “โครงการรวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว จังหวัดเชียงใหม่” โดยในส่วนของกรมป่าไม้เตรียมกล้าไม้สนับสนุนการปลูกป่าประชาอาสาจังหวัดเชียงใหม่จำนวน ๑ ล้านกล้า
สำหรับในเรื่องของการปลูกป่าประชาอาสาในพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ รูปแบบการปลูกจึงเป็นการปลูกเสริม ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยมุ่งเน้นในพื้นที่ที่ถูกทำลายหรือเสียหายจากไฟป่าอย่างรุนแรง ซึ่งในพื้นที่เหล่านี้พรรณไม้ได้ถูกทำลายไปจำนวนมาก ตามหลักวิชาการแม้ว่าจะเป็นเพียงไฟผิวดิน แต่จากการศึกษาพบว่าไฟสามารถทำลายไม้รุ่นและกล้าไม้บนพื้นดิน ทำให้การฟื้นตัวตามธรรมชาติเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ไฟที่รุนแรงก็ส่งผลต่อทรงพุ่มเรือนยอดอันเป็นสาเหตุให้ความสามารถในการโปรยเมล็ดลดลง การดูดซับน้ำโดยระบบรากที่ลดลงหรือหายไปส่งผลต่อการเติบโตของต้นไม้ที่เหลืออยู่ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินในกรณีพื้นที่มีความลาดชัน ดังนั้นการปลูกเสริมในส่วนที่จำเป็น จะเป็นการช่วยเพิ่มการฟื้นตัวตามธรรมชาติ เสริมให้ระบบนิเวศคืนสมดุลรวดเร็วขึ้น และลดความเสี่ยงต่อการบุกรุกพื้นที่ นอกจากนี้การเข้าไปปลูกเสริมป่าโดยวิธีประชาอาสาตามโครงการนี้ เป็นการรณรงค์ สร้างจิตสำนึก สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากพรรณไม้โดยไม่ต้องตัดต้นไม้ จะเป็นแนวทางในการป้องกันรักษาป่าอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ปัจจุบันการปลูกฟื้นฟูป่าของกรมป่าไม้โดยใช้งบประมาณปกตินั้น มีกระบวนการที่โปรงใสตรวจสอบได้ ดังจะเห็นได้จากคำสั่งกระทรวงฯ ที่ 15/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการปลูกป่าระดับพื้นที่ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดพื้นที่เป้าหมายการปลูกฟื้นฟูป่า ซึ่งมีท่านรอง กอ.รมน.จังหวัด เป็นประธาน และมี ทสจ. นายอำเภอท้องที่ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เป็นกรรมการ โดยเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้นพื้นที่ที่จะนำมากำหนดเป็นเป้าหมายปลูกป่าต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองว่ามีความเหมาะสมในการปลูกฟื้นฟู และต้องกำหนดแผนงานเพื่อเสนอของบประมาณมาปลูกล่วงหน้า ในปัจจุบันกรมป่าไม้ไม่เน้นการปลูกเองโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ แต่จะสนับสนุนกล้าไม้ให้ประชาชนปลูกในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกในพื้นที่ คทช. และพื้นที่ สปก. ดังนั้นพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ในปี ๒๕๖๓ หากจะกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อของบประมาณปกติมาปลูก ตามตารางการของบประมาณจะได้งบมาปลูกในปี ๒๕๖๕ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันปลูกป่าประชาอาสา ตลอดจนการเชิญชวนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมสนันสนุนชุมชนในการปลูกฟื้นฟูป่าที่ได้รับการเสียหายในครั้งนี้ หากเราเริ่มปลูก ณ วันนี้พื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายก็จะเป็นพื้นที่สีเขียวได้เร็ววัน ดังตัวอย่างผลงานการปลูกฟื้นฟูป่าตามหลักวิชาการของกรมป่าไม้ ที่ปลูกบริเวณหน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปลือยป่าภูขี้เถ้าและป่าภูเรือ ที่ 7 อำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย ปลูกเมื่อปี ๒๕๔๐ เนื้อที่ 170 ไร่ ชนิดไม้ที่ปลูก ต้นสัก นนทรีป่า ประดู่ป่า แดง แคนา ปัจจุบันเป็นป่าที่สมบูรณ์เชิงประจักษ์ตามภาพถ่ายทางอากาศ แต่อย่างไรก็ตามการปลูกป่าบางพื้นที่ที่ไม่สำเร็จนั้นมีสาเหตุหลายปัจจัย เช่น ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่า การบุกรุกพื้นที่ของผู้ครอบครองพื้นที่เดิม เป็นต้น ทุกท่านคงเห็นแล้วว่าการที่มีบุคคลเพียงไม่กี่คนเป็นต้นเพลิงจุดไฟเผาป่า ผลจากการกระทำก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไร พรรณไม้และสัตว์ป่าได้รับความเสียหาย พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากหมอกควัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้พี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้รักและหวงแหนป่าต้องสูญเสียชีวิต เสียน้ำตา รวมถึงตอนนี้ทุกฝ่ายต้องลุกขึ้นมาช่วยกันปลูกพื้นฟู่ป่าเพื่อให้กลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวโดยเร็ว