ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับจังหวะชีวิตของแต่ละคน เพียงแต่เราอาจไม่เคยตระหนัก แต่นั่นไม่ใช่ สำหรับครูสังคม ทองมี ที่มองว่า ศิลปะ คือ พื้นฐานของการศึกษา ศิลปะเกี่ยวพันกับจินตนาการ ที่เป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ สู่สังคม ศิลปะยังเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นสื่อสำหรับเสนอความคิด หรือการดำเนินกิจกรรมในประเด็นต่างๆ ที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม อาจยังนำมาใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวสาร เป็นเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์ หรือเก็บรักษาเรื่องราว วัฒนธรรม แนวคิด คติความเชื่อ และอื่นๆ อีกมากมาย
ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารหนึ่งที่ส่งเสริมศิลปะ นอกเหนือจากบทบาทที่เป็นที่จดจำในฐานะธนาคารแห่งการออมและส่งเสริมวินัยทางการเงินแก่คนไทยมาช้านาน ในโอกาสครบรอบ 103 ปีของการก่อตั้งในปีนี้ ธนาคารจึงได้จัดกิจกรรมประกวดวาดภาพในหัวข้อ "ออมศิลป์ถิ่นไทย" เป็นเวทีให้ผู้ที่รักศิลปะได้มาแสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ผ่านงานจิตรกรรม
โดยในการประกวดวาดภาพครั้งนี้ ครูสังคม ทองมี ได้เชิญชวนให้เด็กๆ เยาวชน และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมประกวด พร้อมแนะให้สื่อสารผลงานให้ตรงกับหัวข้อที่กำหนด ซึ่งหัวข้อที่ธนาคารกำหนด "ออมศิลป์ถิ่นไทย" เป็นหัวข้อที่กว้าง ให้เสรีกับผู้เข้าประกวดได้จินตนาการอย่างเต็มที่ ว่าจะ "ออม" อะไรไว้ในแผ่นดินไทย อาจเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีผลกระทบกับชีวิตมนุษย์ ทั้ง น้ำ ฟ้า ป่า เขา และแผ่นดิน ประเทศที่เราอยู่ หรือออมศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดกล้ำค่าที่สืบสานกันมา หรือการอนุรักษ์ พัฒนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ก็สามารถสื่อสารได้เช่นกัน หรือจะสื่อสารเรื่องการออมทรัพย์สินที่เป็นรูปของเงินก็ยังได้ เพราะหากเรารู้จักออม รู้จักใช้จ่ายให้เหมาะสม มีความประหยัด ก็สามารถนำเงินนั้นมาใช้พัฒนาประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ 2 ทาง คือ 1. ส่งทางไปรษณีย์ซึ่งต้องประทับตราวันจัดส่งภายในวันที่ 10-16 มิถุนายน พ.ศ. 2559 และ 2. ส่งด้วยตนเอง ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน ถึง วันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. ส่งที่ "คณะทีมงานการประกวดวาดภาพออมศิลป์ถิ่นไทย" สถาบันวิชาการ ทีโอที อาคารสโมสร ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 เลขที่ 174 ถ.งามวงศ์วาน ซ.งามวงศ์วาน 17 อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 หรือศึกษารายละเอียด กฎเกณฑ์ กติกาการเข้าร่วมประกวดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.gsbgen.com หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ 02-663-3226-9 ต่อ 85-86
ยังมีเวลาสำหรับผู้สนใจได้สร้างสรรค์ชิ้นงานเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งดีงามในสังคมไทยให้คงอยู่ต่อไปผ่านงานจิตรกรรม ที่เป็นเวทีสร้างแรงกระเพื่อมในวงการศิลปะไทยให้มีความเคลื่อนไหวคึกคักและพัฒนาไปสู่ระดับสากลต่อไป