กระทรวงพาณิชย์ จับมือ ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผลักดันผู้ประกอบการชุมชนเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้น เปิด 3 แนวทาง ส่งเสริมร้านค้าใช้อี-คอมเมิร์ซ กระตุ้นยอดขาย/ขยายกิจการให้เติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนาผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ในการขยายตลาดด้วยอี-คอมเมิร์ซ เพิ่มความน่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์ ผ่านการขอเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Registered, DBD Verified และจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าออนไลน์ มั่นใจช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ซื้อลดความกังวลในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ และผู้ขายมีรายได้มากขึ้น ตั้งเป้าผลักดันยอดขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ภายใน 5 ปี โดยคาดว่าปี 2564 อี-คอมเมิร์ซไทย มีมูลค่าแตะ 5 ล้านล้านบาท ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งค้าขายออนไลน์อาเซียน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางสร้างความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยอย่างต่อเนื่อง คาดว่าหลังจากโรคโควิด-19 บรรเทาเบาบางลง ผู้คนทั่วทุกมุมโลกจะมีการดำเนินชีวิตในรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับโมเดลธุรกิจแบบใหม่ (Digital Disruption) เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทำธุรกรรมผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้ง การซื้อสินค้าก็จะใช้ช่องทางอี-คอมเมิร์ซมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือกับตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) จะช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้รับประโยชน์ทั้ง 2 ด้าน”
“เบื้องต้นได้ให้แนวทางการขับเคลื่อนผู้ประกอบการชุมชนในการใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ เพื่อทำการตลาดและกระจายสินค้า 3 แนวทาง ประกอบด้วย (1) การพัฒนาผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ผ่านการจัดอบรมและบ่มเพาะเชิงลึก โดยการนำจุดเด่นของสินค้าซึ่งผู้ประกอบการมีอยู่แล้วมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อดึงดูดความสนใจ (Content Marketing) ของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ รวมถึงร่วมมือกับ Platform ชั้นนำในการช่วยส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ โดยในปี 2563 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนเข้าสู่ช่องทางอี-คอมเมิร์ซ อย่างน้อย 10,000 ราย”
“(2) สร้างบรรยากาศการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าออนไลน์ตระหนักถึง การมีตัวตนและความน่าเชื่อถือของร้านค้า ผ่านการขอรับเครื่องหมายรับรองตัวตน DBD Registered และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ DBD Verified จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ก่อให้ธุรกิจเกิดความเติบโตอย่างยั่งยืน และ (3) การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าออนไลน์ อาทิ การจัดงาน Thailand Online Mega Sale, DBD Boost up Online, Thailand e-commerce Hackathon ฯลฯ เป็นต้น และยังเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคเกษตรให้สามารถขายสินค้าออนไลน์ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการจัดกิจกรรม Thai fruits golden months ซึ่งงานฯ ดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดออนไลน์ โดยทั้ง 3 แนวทางที่กล่าวมาคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากถึง 1,100 ล้านบาท”
“นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของแนวทางการขับเคลื่อนฯ คือ การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและการพัฒนาให้ตรงจุดอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะร่วมมือกันกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานในการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการส่งเสริมผู้ประกอบการซึ่งจะเน้นเรื่องการเขียนเรื่องราวให้กับผู้ประกอบการ (Story Telling) รวมถึงการปรับรูปแบบการสอนให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ Smart Phone ในการเปิดร้านค้าและการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ (M-Commerce) ได้”
รมช.พณ.ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “กระทรวงพาณิชย์ คาดหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาและเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้อย่างไร้กังวล รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์เห็นถึงความสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยการขอรับเครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามากขึ้น ใช้อี-คอมเมิร์ซ เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการและชุมชน เป็นช่องทางการขยายตลาดไปสู่สากลและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าผลักดันยอดขายผ่าน e-Commerce ให้เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ภายใน 5 ปี โดยคาดว่าปี 2564 อี-คอมเมิร์ซไทย จะมีมูลค่าแตะ 5 ล้านล้านบาท ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งค้าขายออนไลน์อาเซียน”