นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พ.ค. 2563 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้พิจารณา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS) ที่เป็นผู้ชนะการประมูลได้ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ กลุ่มบีบีเอสเสนอราคาผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน คำนวณ ปี 2561 เท่ากับ 305,555,184,968 บาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 532,000 ล้านบาท รายได้ภาษีอากร 92,650 ล้านบาท และสร้างตำแหน่งงานอีก 2,9870 คน นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้ทำงานบูรณาการตามแผนงานที่กำหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้
"สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบโครงการ เพราะก่อสร้างเสร็จปี 2566 และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ประเมินว่าธุรกิจการบินจะกลับมาภายใน 2 ปีจากนี้ไป เมื่อถึงตอนนั้นท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองจะมีการใช้บริการหนาแน่นเหมือนเดิม" นายคณิศ กล่าว
นายคณิศ กล่าวถึงกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เตรียมทำแผนฟื้นฟูกิจการ ว่า ทางอีอีซีจะแนะนำคณะกรรมการจัดทำแผนฟื้นฟูว่าโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ) ควรได้รับการบรรจุไว้ในฟื้นฟูและดำเนินการต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการส่งผลดีต่อการบินไทยไม่ต้องลงทุนสร้างเอง เพียงแต่เช่าตัวอาคารจากกองทัพเรือและลงทุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการซ่อมเครื่องบิน และเป็นโครงการที่มีกำไร ส่วนกรณีแอร์บัสไม่พร้อมที่จะร่วมลงทุน แต่พร้อมให้การสนับสนุนทางเทคนิคนั้น การบินไทยหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ได้ โดยมีการจัดสรรที่ดิน 250 ไร่ และมีพื้นที่เหลืออีก 300 ไร่ ทำเอ็มอาร์โอแล้ว