หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ในประเด็นความ ‘โปร่งใส’ และการเปิดช่องให้บรรดานักการเมืองเข้ามา ‘แทรกแซง’ การจัดสรรเงิน ‘กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน’ (อ่านประกอบ : จับตา 'กองทุนอนุรักษ์พลังงาน' ยุค พปชร. วิจารณ์แซด ‘ชงเองกินเอง’?)
กระทั่งนำไปสู่การปรับโครงสร้างอำนาจในการ 'อนุมัติ' จัดสรรเงินกองทุนฯ 'ยกแผง' พร้อมๆกับปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินกองทุนฯใหม่ทั้งหมด (อ่านประกอบ : ไม่เน้นซื้อของ! ‘สนธิรัตน์’ รื้อเกณฑ์กองทุนอนุรักษ์ฯ-เชื่อปิดช่องการเมืองแทรก)
ล่าสุด คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานงานบริหารกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับการทำข้อเสนอโครงการ 7 ข้อ เพื่อเป็นกรอบเบื้องต้นในการจัดสรรเงินกองทุนฯ ก่อนเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณา ซึ่งประกอบด้วย
ข้อ 1 เป็นโครงการที่ ‘ตรงกับ’ วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 ของพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 กิจกรรมและเป้าหมาย หรือผลผลิต สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยมีผลผลิต ผลลัพธ์ที่แสดงถึงความสำเร็จของโครงการ และแสดงถึงจุดสิ้นสุดของโครงการ
ข้อ 2 เป็นโครงการที่มี ‘ข้อมูลทางเทคนิค’ ของอุปกรณ์สำหรับประกอบการพิจารณา แสดงผล ‘ประหยัดที่ถูกต้อง’ มีข้อมูลที่เกี่ยวกับระยะเวลาคืนทุน มีข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ และมีกลุ่มเป้าหมายที่ ‘ชัดเจน’ หรือกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการ
ข้อ 3 เป็นโครงการที่ผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็น ‘ผู้ขอแทนกัน’ ในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน
ข้อ 4 กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานและผลการเบิกจ่ายของปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (ผลการเบิกจ่ายของเจ้าของโครงการ) และมีรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการ โดยจะต้องมีผลความก้าวหน้าของโครงการในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 (โดยมีการแสดงข้อมูลผลความก้าวหน้า) ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ
ข้อ 5 กรณีเป็นโครงการที่มีลักษณะ ‘สาธิต’ หรือ ‘ริเริ่ม’ หรือโครงการที่มี ‘ผลสัมฤทธิ์’ แล้ว ไม่สมควรให้การสนับสนุนเพื่อดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
ข้อ 6 กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ‘ผลผลิตภาคการเกษตร’ จะต้องเสนอ ‘แผนการจัดการตลาด’ ของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่ขอรับการสนับสนุน และแผนที่สามารถ ‘วัดผล’ ได้ว่าจะนำไปสู่การสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ทางเศรษฐกิจได้อย่างไร
ข้อ 7 ทรัพย์สินใดๆ ที่เกิดจากการสนับสนุนเงินจากกองทุนๆ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ถือเป็นทรัพย์สินของผู้ได้รับการสนับสนุนที่ต้องบำรุงรักษา และดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
แต่ทว่าที่มาที่ไปของเงื่อนไขทั้ง 7 ข้อ ซึ่งพุ่งไปที่การ ‘อุดช่องโหว่’ การใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯนั้น ต้องเรียกว่าไม่ธรรมดาเลย เพราะเงื่อนไขดังกล่าวสรุปมาจากบทเรียน ‘ราคาแพง’ ของการใช้เงินกองทุนฯที่มีความผิดพลาดในอดีต