รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพซบุ๊ก เรื่องมาตรการที่เหมาะสมสำหรับคอนเสิร์ต มีเนื้อหาดังนี้
เช้านี้เห็นข่าวในทีวี พูดถึงมาตรการที่รัฐกำลังจะพิจารณาสำหรับคอนเสิร์ตที่อาจอนุญาตให้สามารถจัดขึ้นได้หลังประกาศปลดล็อค
มาตรการที่ออกมา ควรเข้าใจธรรมชาติของกิจกรรมและธรรมชาติของคน
ตรงไปตรงมา...คอนเสิร์ต...ถ้าจะอนุญาตให้จัดแล้ว ขืนไปออกกฎห้ามตะโกน กรี๊ด ร้องเพลงกันดังๆ คงทำไม่ได้แน่นอน และขืนให้ใส่หน้ากาก ก็เชื่อขนมกินได้ว่า มีถอดกันแหงๆ
การจะไปให้รักษาระยะห่าง จะทำได้จริงหรือ
การจะให้กำหนดที่นั่งฟังคอนเสิร์ตห่างๆ กัน ใครจะทำตามได้จริง
การรักษาระยะห่างในคอนเสิร์ต คงจะทำได้ในลักษณะการฟังแบบดนตรีคลาสสิค โอเปร่า หรือการแสดงที่ชูเรื่องความสงบ
ดังนั้น การพิจารณากฎเกณฑ์นั้นสำคัญอย่างยิ่ง
อาศัยความรู้ทางการแพทย์ที่เรามีอยู่คือ...
แค่การคุยกันระยะใกล้ โดยที่เค้าไม่มีไอ ไม่มีจาม การวิจัยพบว่าจะมีละอองน้ำลาย (aerosol) ขนาดราว 1 ไมครอนออกมาเวลาพูดคุยกันได้
แถมจำนวนละอองฝอยขนาดเล็กนี้ มีปริมาณถึง 10 ละอองต่อวินาที
นั่นคือ การคุยกันธรรมดา 10 นาที เรามีโอกาสสัมผัสละอองฝอยจากคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใดๆ มากถึง 6,000 ละอองฝอย (หากพูดไม่หยุดเลย ????)
แต่หากคุยแบบเสียงดัง ตะโกน ตะเบ็ง จำนวนละอองฝอยที่ออกมาจะมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังเคยมีคนทำการวิจัยไว้ด้วยว่า ละอองฝอยเหล่านี้สามารถนำพาเอาไวรัสไข้หวัดใหญ่ไปได้ ซึ่งก็เป็นไปได้สำหรับโควิด-19 เช่นกัน
แม้จะมีปัจจัยอื่นๆ แวดล้อมที่อาจส่งผลต่อโอกาสแพร่เชื้อด้วย เช่น การถ่ายเทอากาศ ทิศทางและความแรงของลม ฯลฯ
เมื่อเราทราบข้อมูลความรู้ข้างต้น เราจึงน่าจะทราบได้ดีว่า ถ้ามีคนติดเชื้อไวรัสอยู่ในคอนเสิร์ต ย่อมมีความเสี่ยงในการแพร่กันได้มาก
จุดสำคัญจึงอยู่ที่...
1. การคัดกรองอาการ ตรวจประวัติไม่สบาย การเดินทาง อาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไข้ ตาแดง ท้องเสีย ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ถ้ามี ก็ไม่ควรเข้าไปในงาน
2. จิตสำนึกของทุกคนที่เข้ามาในคอนเสิร์ต ประเมินตนเองให้ดีตามความจริง ไม่ปิดบัง
3. ระบบประกันความเสี่ยงจากการจัดคอนเสิร์ต ผู้จัดควรมีประกันสำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อผู้เล่น ผู้ฟัง และสังคม ซึ่งเดิมไม่เคยมีมาก่อน
4. หลังคอนเสิร์ต คนเข้าร่วมงานคอนเสิร์ตทุกคนควรหมั่นประเมินอาการตนเอง หากภายในสองสัปดาห์มีอาการไม่สบาย ให้รีบไปปรึกษาแพทย์
ส่วนตัวแล้วคิดว่า มาตรการที่รัฐคลอดออกมา ควรสอดคล้องกับธรรมชาติของงาน เราคงห้ามไม่ได้ทุกอย่าง และหากรู้ว่ามีความเสี่ยง ก็ควรกระตุ้นให้คนทราบถึงความเสี่ยง และเตรียมพร้อมจัดการอย่างทันท่วงทีครับ
ด้วยรักต่อทุกคน
อ้างอิง
Asadi S et al. The coronavirus pandemic and aerosols: Does
COVID-19 transmit via expiratory particles? Aerosol Science and Technology. 3 April 2020. DOI: 10.1080/02786826.2020.1749229