นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า การหารือกับตัวแทนสายการบิน 15 สายการบินเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2563 เพื่อเตรียมพร้อมเปิดบริการเส้นทางระหว่างประเทศ เบื้องต้นยังไม่มีการตัดสินใจอะไร เพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เป็นหลักว่าจะมีมาตรการอะไรอย่างไรบ้าง และจะกำหนดคนเข้าออกประเทศอย่างไร
“ส่วนการเปิดประเทศเพื่อทำการบินแบบปกติ คงต้องรอที่ประชุมศบค.และกระทรวงสาธารณสุขกำหนดก่อน”ทั้งนี้การเปิดปิดประเทศ จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยง 2 ประเภทคือ 1.ประเทศต้นทางที่เข้ามาในไทยอยู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการระบาดแค่ไหน และ 2. ตัวบุคคล เช่น นักธุรกิจที่มาทำงานมีความเสี่ยงมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะความเสี่ยงในเชิงอาชีพต่างกัน เป็นต้น
ดังนั้น แนวคิดการจับคู่ประเทศเพื่อเปิดการเดินทาง (Travel Bubble) จึงไม่ได้ใช้กับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่กินความถึงการดึงดูดนักลงทุนด้วย ซึ่งในรายละเอียดจะต้องหารือเรื่องเอกสารและมาตรการทางสาธารณสุขตั้งแต่ประเทศต้นทางถึงปลายทางต่อไป โดยต้องรอสัญญาณจาก ศบค.อยู่ดี กพท.ไม่สามารถจะตัดสินใจได้
ส่วนมาตรการเรื่องการบินยังมีรายละเอียดที่ต้องคุยกันอีกมาก แต่ที่มีการคุยกัน สายการบินส่วนใหญ่สอบถามเรื่องของมาตรการเว้นที่นั่ง เพื่อป้องกันโรคตามหลักการ Soical Distancing ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า ไม่มีการให้เว้นที่นั่งแล้ว ซึ่งได้ออกคำสั่งยกเลิกไปเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) สำหรับเที่ยวบินในประเทศที่ทำการบินไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพราะระบบกรองอากาศภายในเครื่องบินสามารถกรองอากาศได้สูงถึง 99.99% จึงไม่น่ากังวลอะไรอีก แต่กำชับเพิ่มเติมว่า ผู้โดยสารต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ใช้บริการบนเครื่อง
“การจะกลับมาทำการบินระหว่างประเทศได้เมื่อไรนั้น คงต้องคาดการณ์ดีมานด์ก่อน ซึ่งขณะนี้ดีมานด์จากต่างประเทศยังไม่ชัดเจน อาจจะต้องรอให้ถึงช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ เพราะบางประเทศก็เพิ่งเริ่มมาตรการผ่อนคลายเมื่อไม่นานนี้ และจะต้องสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารบนเครื่องบินด้วย โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) สำรวจแล้วพบว่า ต้องมีผู้โดยสารบนเครื่องอย่าง 77% ของพื้นที่นั่งทั้งหมดจึงจะคุ้มที่จะทำการบิน”
อย่างไรก็ตามเที่ยวบินระหว่างประเทศ ก็จะใช้มาตรการเดียวกับในประเทศ เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่จะให้เปลี่ยนไส้กรองตามรอบ ส่วนการเสิร์ฟอาหารบนเครื่อง ตามมาตรฐานสากลไม่ได้กำหนดชัดเจนว่ามีเกณฑ์อะไรยังไง แต่เบื้องต้นกำหนดว่า ไฟล์ทบินที่มีระยะเวลาทำการบิน 2 ชม.ขึ้นไป จึงจะให้มีการเสิร์ฟอาหาร-เครื่องดื่มได้
“โดยการเสิร์ฟในส่วนของเครื่องดื่มจะไม่มีการรินให้แบบคนต่อคน แต่จะใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดแทน เช่น กล่อง เป็นต้น ส่วนการเสิร์ฟอาหาร ถ้าเสิร์ฟในถาดก็จะซิลพลาสติกมาให้หรือใส่ในการภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อลดการสัมผัสระหว่างลูกเรือกับผู้โดยสาร”
ส่วนการกั้นพื้นที่ให้กับผู้โดยสารที่มีอาการป่วย เบื้องต้นยังให้กั้นพื้นที่บริเวณ3แถวสุดท้ายด้านหลังไว้ก่อน แต่ให้แต่ละสายการบินประเมินความเสี่ยงเองว่า เส้นทางใดจะต้องกั้นพื้นที่ไว้หรือไม่ เพราะบางพื้นที่เป็นเส้นทางบินสั้นๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องกั้นพื้นที่ แต่ถ้ายิ่งอยู่บนเครื่องบินนานก็ยิ่งมีความเสี่ยง ก็แล้วแต่การบริหารของแต่ละสายการบิน ทั้งนี้การเปิดบินทางสายการบินต้องเช็คมาตรการของประเทศปลายทางด้วย
“จะนำข้อเสนอแนะจากการหารือที่ได้จากสายการบินและสนามบินในวันนี้ ไปพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศ ฯ และนำไปหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านอื่น ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และศบค. ต่อไป” นายจุฬากล่าว