เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าด้วยการดำเนินคดี การช่วยเหลือในทางคดี และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดี พ.ศ. 2563
สาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวคือ เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการมอบหมายหรือมอบอำนาจในพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีในชั้นศาล การแต่งตั้งทนายความฟ้องคดีแทน และการช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดี
ข้อ 6 เมื่ออัยการสูงสุด (อสส.) ได้รับสำนวนคดีอาญาจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. แล้ว หาก อสส. เห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดี ให้ อสส. และ ป.ป.ช. ตั้งคณะทำงานร่วมฝ่ายละไม่เกิน 5 คน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ ในกรณีที่คณะกรรมการร่วมฯไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปตามสมควร แต่ต้องดำเนินการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ และต้องไม่ช้ากว่า 90 วันนับแต่วันที่หาข้อยุติไม่ได้ ทั้งนี้การฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ย่อมกระทำได้ถ้าได้ฟ้องภายในอายุความ
ข้อ 7 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้ว่าคดี ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้ง เป็นผู้ดำเนินคดีแทน เพื่อฟ้องคดี ยื่นคำร้อง คำคู่ความ เสนอเรื่อง หรือเสนอความเห็นต่อศาลแทน เช่น คดีที่ตั้งคณะทำงานร่วมฯ แต่ไม่อาจหาข้อยุติได้ คดียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ คดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้บริหารระดับสูงฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือคดีการแปรญัตติงบประมาณเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง เป็นต้น
ข้อ 8 สำหรับผู้ว่าคดีดังกล่าว โดยประกอบด้วยบุคคลไม่น้อยกว่า 2 คนร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อดำเนินคดีในชั้นศาล ในการนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายหรือมอบอำนาจให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินคดีในชั้นศาลของผู้ว่าคดีก็ได้
ข้อ 26 กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเป็นต้องฟ้องคดีเองหรือดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีแทนก็ได้ โดยให้สำนักงานประกาศรับสมัครทนายความซึ่งมีคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีประสบการณ์ในการว่าความอันจะยังประโยชน์สำหรับการดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยประกาศดังกล่าวจะพิจารณากำหนดเงินรางวัลให้แก่ทนายความไว้ในประกาศดังกล่าวด้วยก็ได้
ข้อ 27 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาให้การช่วยเหลือในทางคดีกับผู้ได้รับความช่วยเหลือ (หมายความว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้บริหาร ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. รวมถึงบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน และคณะอนุกรรมการ) เนื่องจากถูกดำเนินคดีไม่ว่าเป็นคดีทางแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และไม่ว่าจะถูกฟ้องในขณะดำรงตำแหน่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ถ้าการถูกดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเพราะเหตุได้มีมติ คำสั่ง หรือการปฏิบัติหน้าที่ ให้สำนักงานมีอำนาจให้ความช่วยเหลือในทางคดีกับผู้ได้รับความช่วยเหลือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
บุคคลที่ได้รับความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง จะต้องเป็นบุคคลที่เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมาย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การถูกดำเนินคดีนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงานมิได้เป็นผู้ดำเนินคดีนั้นเอง โดยการช่วยเหลือบุคคลดังกล่าวให้รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายด้วย
ข้อ 29 ในการช่วยเหลือในทางคดีกับบุคคลใด ให้ผู้ว่าคดีประสานไปยังพนักงานอัยการ เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ต่างคดี และหากพนักงานอัยการปฏิเสธ ไม่รับแก้ต่างหรือคดีไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของอัยการ ให้ผู้ว่าคดีแก้ต่างคดีเอง ในการนี้ให้ผู้ว่าคดีรายงานข้อเท็จจริง และเหตุผลที่สมควรแก้ต่างคดีเองให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ
ข้อ 30 หากบุคคลผู้ได้รับความช่วยเหลือ อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัว ประสงค์ขอความช่วยเหลือในการขอออกหนังสือรับรองการขอปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยื่นคำขอรับความช่วยเหลือต่อเลขาธิการ หรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมาย
ในกรณีที่ผู้ได้รับความช่วยเหลือที่ถูกดำเนินคดีหลบหนี เมื่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล เรียกให้ชดใช้เงินตามสัญญาประกัน ให้สำนักงานเบิกจ่ายจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อนำส่งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล โดยจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อม หรือแคชเชียร์เช็ค หรือตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ หรือศาลที่ทำสัญญาประกันไว้แล้วแต่กรณี และให้สำนักงาน ป.ป.ช. ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้ได้รับความช่วยเหลือที่ถูกดำเนินคดีในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันดังกล่าว