นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกร. ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย มีความเห็นตรงกันว่า ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายผังเมืองใหม่ ที่ประกาศลดพื้นที่สีม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรมลงในหลายจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการที่ถูกปรับผังสีไปเป็นสีอื่น ทำให้ไม่สามารถขยาย หรือลงทุนตั้งโรงงานได้
จึงมีแผนจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือเรื่องการชะลอการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองใหม่ออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.)ไปแล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา โดยในระหว่างนี้กกร. จะลงไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ เพื่อที่จะมีข้อมูลที่ชัดเจนจากผลกระทบที่เกิดขึ้น
“จากการประเมินในเบื้องต้น พบว่า จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จะเป็นจังหวัดที่มีโรงงานขนาดเล็กกระจายในพื้นที่ตัวเมืองมาก ซึ่งโรงงานเหล่านี้ตั้งมายาวนานก่อนกฎหมายผังเมืองจะประกาศ รวมทั้งยังมีโรงงานบางประเภทจำเป็นจะต้องอยู่ใกล้ท่าเรือ เช่น โรงงานอาหารใน จ.สมุทรสาคร หรือโรงงานแปรรูปการเกษตร ที่จำเป็นจะต้องอยู่ในพื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งเพาะปลูก ดังนั้นควรจะปรับผังเมืองให้สะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่”
นอกจากนี้ กกร. ยังให้ความสำคัญกับ Doing Business Report 2016 ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลกและมีการแถลงผลการจัดอันดับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าอันดับความยากง่ายในการธุรกิจของประเทศไทยถูกปรับลดลงมาอยู่ในอันดับที่ 49 จากอันดับที่ 46 ในปีที่แล้ว โดย กกร. มองว่าการลดลงของอันดับของประเทศในครั้งนี้ สะท้อนถึงจุดอ่อนของขีดความสามารถแข่งขันของประเทศที่ยังไม่ทัดเทียมกับประเทศคู่แข่ง จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนควรร่วมการรับผิดชอบผลักดันแก้ไขอุปสรรคดำเนินธุรกิจทั้งหมด เพื่อให้ขีดความสามารถแข่งขันของประเทศโดยรวมดีขึ้นและสะท้อนออกมาในผลการจัดอันดับในที่สุด ซึ่งรัฐบาลได้นัดหารือกับภาคเอกชนในประเด็น Ease of Doing Business ภายในวันศุกร์ที่ 6 พ.ย.นี้
นายอิสระ ประเมินว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ของปีนี้อุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ซึ่งได้รับอานิสงส์จากแพกเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งทยอยออกมาต่อเนื่อง ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ,มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ เอสเอ็มอี ,มาตรการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี รายใหม่ และล่าสุดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อของ ธ.ก.ส. ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศไตรมาสสุดท้ายฟื้นตัวมากขึ้น และเชื่อว่าผลเชื่อมโยงของมาตรการต่างๆจะส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศปรับดีขึ้นต่อเนื่องในปี2559