ที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เห็นชอบให้ประกาศประเด็น “ระบบสุขภาพเขตเมือง: การจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย” และ “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน” เป็นระเบียบวาระการประชุมในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๙ ปลายปีนี้ ยังเปิดรับประเด็นนโยบายสุขภาพสำคัญและมีความพร้อมเพิ่มเติม ก่อนประกาศระเบียบวาระเพิ่มเติมก.ย.นี้
เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ในการประชุม คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๙ (คจ.สช.) โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการจากภาคีภาคส่วนต่างๆ จำนวนมาก
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธาน คจ.สช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เตรียมความพร้อมสำหรับเวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคมนี้ในทุกด้าน ทั้งการเสริมสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย การประเมินผล และเริ่มเสนอประเด็นหลักของการประชุมบ้างแล้ว ในการประชุมวันนี้เรื่องสำคัญคือ การพิจารณาร่างระเบียบวาระสำหรับการประชุมซึ่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพฯ กำหนดให้ประกาศให้สาธารณะรับทราบก่อนการประชุม ๙๐ วัน
ในปี ๒๕๕๙ นี้ มีภาคีเครือข่ายนำเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่ง คจ.สช. มอบให้คณะอนุกรรมการวิชาการที่มี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร เป็นประธานกลั่นกรองเนื้อหาและความพร้อมทั้งหมด โดยจัดกระบวนการร่วมกับผู้เสนอประเด็น โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากความสำคัญของประเด็น ความรุนแรงของผลกระทบ ความสนใจของสาธารณะ และความเป็นไปได้ในการผลักดันเชิงนโยบาย และเสนอต่อที่ประชุม คจ.สช.ว่า ขณะนี้มีประเด็นที่ผ่านเกณฑ์กลั่นกรองและมีความพร้อมของกระบวนการพัฒนาประเด็น ๒ เรื่อง คือ ประเด็นระบบสุขภาพเขตเมือง: การจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย และ ประเด็นน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน
“ที่ประชุม คจ.สช. เห็นชอบว่าทั้ง ๒ ประเด็นมีความสำคัญมากต่อสุขภาวะของประชาชน เพราะเป็นเรื่องภัยใกล้ตัวที่มาพร้อมกับการพัฒนาเมือง ซึ่งทุกฝ่ายควรต้องมาบูรณาการความร่วมมือกันแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ได้แก่ ประเด็นระบบสุขภาพเขตเมือง: การจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย และ น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถือว่ามีความเหมาะสมที่จะนำเสนอเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ ในปีนี้”
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า เมื่อ คจ.สช. ประกาศระเบียบวาระดังกล่าวแล้ว คณะอนุกรรมการวิชาการจะจัดกระบวนการพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะรายประเด็น โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและมุ่งใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นฐานพัฒนานโยบาย พร้อมทั้งจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง ข้อเสนอนโยบายฯอีกอย่างน้อย ๒ ครั้ง ก่อนเสนอ ร่าง ข้อเสนอนโยบายฯ ในการประชุม คจ.สช. วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ นี้ พร้อมกันนี้ หากคณะอนุกรรมการวิชาการมีประเด็นนโยบายที่เห็นควรเสนอเป็นระเบียบวาระการประชุม ก็จะเสนอให้ คจ.สช. พิจารณาประกาศเพิ่มเติมด้วย
สำหรับสาระสำคัญ ประเด็นระบบสุขภาพเขตเมือง: การจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย เป็นผลมาจากปัญหาสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่ไม่เอื้อต่อสุขภาวะ โดยพบว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการซื้อบ้านของคนไทยประมาณร้อยละ ๕๐ อยู่ที่ราคาไม่เกิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท แต่ราคาบ้านเอกชนในตลาดขั้นต่ำอยู่ที่ ๖๐๐,๐๐๐ บาท จึงเกิดที่อยู่อาศัยราคาถูกซึ่งมีสภาพแวดล้อมต่ำกว่ามาตรฐาน ชุมชนแออัด ขาดสาธารณูปโภค สร้างปัญหา ขยะ น้ำเสีย การจราจร และการดูแลสุขภาพทำได้ไม่ทั่วถึง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชน ร่วมกันออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยให้เกิดสุขภาวะอย่างยั่งยืน
ส่วนเรื่อง น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ก็มีความสำคัญต่อระบบสุขภาพเช่นกัน จากการสำรวจของสถานที่ผลิตน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิททั่วประเทศในปี ๒๕๕๘ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวน ๙,๐๐๐ แห่ง มีสถานที่ผลิตที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ๖๔๗ แห่ง และเมื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ห้องปฏิบัติการ) จำนวน ๓,๔๙๐ แห่ง ปรากฏว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานถึง ๑,๒๐๐ แห่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๓๔.๓๘
นอกจากนั้น ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ที่สำรวจตัวอย่างตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกทม. ๑๘ เขต พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง และพบความไม่เหมาะสมเรื่องสถานที่ตั้ง อาทิ ริมถนน ฟุตบาท ทางเดินเท้า ซึ่งมีฝุ่นควันมาก รวมถึงใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย น้ำขัง และอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะ ทำให้มีแมลงสาบ หนู แมลงวัน เป็นพาหะนำโรค นำมาสู่ปัญหาด้านสาธารณสุข อาทิ โรคอุจจาระร่วง โรคบิด เนื่องจากพบแบคทีเรียในน้ำดื่มที่ไม่สะอาดหลายชนิด
ขณะที่แนวทางการแก้ไขยังมีอุปสรรค โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีภารกิจมาก และยังมีความรู้ทางวิชาการไม่เพียงพอในการปฏิบัติงานเรื่องนี้ ปัญหาด้านกฎหมายควบคุมกำกับที่แม้จะมีหลายฉบับแต่อาจมีอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงยังขาดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเด็นนี้จึงถูกนำเสนอเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ เพื่อประสานความร่วมมือในการทำงานระหว่างทุกภาคส่วนต่อไป