เอไอเอสตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลอันดับ 1 ของไทย ภายใต้แนวคิด Live Digital ,Live More นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้นในทุกมิติ ล่าสุดจับมือหน่วยงานต่างๆ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ให้เกิดการพัฒนาด้านการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความรู้จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก นำร่องที่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคีรีล้อม อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลอยู่ในถิ่นทุรกันดาร
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีและพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป เอไอเอสจึงมีเป้าหมายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนองค์กรจากการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ Mobile Operator สู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล หรือ Digital Service Provider อันดับ 1 และเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมต่างๆ ของเมืองไทย เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการใช้ชีวิตของลูกค้าในยุคปัจจุบัน ให้ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งด้าน Working , Living และ Learning สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารให้ทันสมัย มีคุณภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนอกจากจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับการใช้ชีวิตของลูกค้าให้ง่าย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นแล้ว เอไอเอสในฐานะผู้นำเครือข่ายอันดับ 1 ของไทย ยังนำความพร้อมเรื่องเทคโนโลยียุคดิจิทัลทั้งหมดที่มีอยู่ เข้ามายกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน เพื่อพัฒนาสังคมในองค์รวมทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร ให้สามารถเชื่อมโยงการสื่อสารในยุคดิจิทัลได้เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัล จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิตของคนไทยก้าวไปอีกขั้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข , ด้านการเรียนรู้ , ด้านความปลอดภัยของชีวิต และด้านการเกษตร เป็นต้น โดยที่ผ่านมาเอไอเอสได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขให้คนไทย ด้วย แอปพลิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชุมชนเชิงรุกของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้สามารถรับส่งข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขในชุมชน เช่น โรคระบาด , ข่าวประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข และรายงานสถานการณ์สุขภาพของคนในชุมชน ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และถูกต้อง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่เริ่มใช้งานแอปพลิเคชั่นนี้แล้วประมาณ 50 แห่งในพื้นที่ต่างๆทุกภูมิภาค และจะขยายอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับวันนี้ เพื่อเป็นการนำเทคโลยีดิจิทัลเข้ามายกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ให้เกิดการพัฒนาด้านการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนความรู้จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี และช่วยให้คนไทยในพื้นที่ชุมชนดังกล่าวมีชีวิตที่ดีขึ้น เอไอเอส จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี , กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน , เนคเทค และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จัดทำ “โครงการระบบไอซีที และพลังงานทดแทนแบบบูรณาการสำหรับชุมชนชายขอบ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ขึ้น โดยนำร่องที่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคีรีล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแห่งแรก ซึ่งปัจจุบันทำการสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 105 คน และตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บริเวณป่าต้นน้ำหน่วยพิทักษ์ป่าคีรีล้อม
โดยโครงการดังกล่าว เอไอเอสได้ทำหน้าที่นำระบบไอซีทีมาเชื่อมโยงการสื่อสารในยุคดิจิทัลด้วยการจัดทำห้องเรียนต้นแบบด้านการเรียนรู้สำหรับเยาวชน ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สายและระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G เพื่อเป็นการเปิดโลกแห่งการสื่อสาร ให้เยาวชนและชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานเริ่มตั้งแต่การผลิตพลังงานไฟฟ้า เพราะบริเวณชุมชนบ้านคีรีล้อมอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังไม่มีระบบไฟฟ้า และระบบการสื่อสารโทรคมนาคมยังเข้าไปไม่ถึง เอไอเอสจึงร่วมกับ เนคเทค ออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบพลังงานทดแทนแบบบูรณาการ ที่ใช้ระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ และพลังงานจากน้ำ สำหรับใช้งานภายในศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแห่งนี้ พร้อมมีระบบตรวจวัดข้อมูลสังเกตการณ์ระยะไกล (Remote Monitoring) เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ และเข้ามาแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังร่วมกันจัดตั้งสถานีเก็บประจุไฟฟ้า (Charging Station) เพื่อให้ประชาชนนำตะเกียงมาชาร์จไฟไปใช้งานที่บ้านได้ พร้อมทั้งมีการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนเรื่องการใช้งาน และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย “เอไอเอสมีความพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัล และบุคลากรคุณภาพมาช่วยยกระดับ พัฒนาสังคมไทย ให้มีความพร้อมสู่การเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และผลักดันการพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารไร้สายให้เข้าถึงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชนบทที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร เพราะเมื่อชุมชนเหล่านี้เข้าถึงแหล่งข้อมูลและเกิดการเรียนรู้ ก็จะช่วยให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ทุกคน พร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยเติบโต และแข็งแรงอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสมชัย กล่าวสรุป