ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
กสอ. ดันแผนฟื้นศก.ชุมชนใน 90 วัน โชว์ต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรม พยุงคนขายของฝาก
04 ก.ค. 2563

             กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินแผนมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมใน 90 วัน ชงเกษตรกรไทยสู่เกษตรอุตสาหกรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เล็งชูเศรษฐกิจฐานรากด้วยการยกระดับผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 เสริมเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีการแปรรูปที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป คาดว่าจะสามารถพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมได้กว่า 80 กลุ่มทั่วประเทศ พร้อมฟื้นผู้ประกอบการสินค้าของฝาก สร้างรายได้ชุมชน ผ่านโมเดล “แตกกอผู้ประกอบการ” แนะทริค 3P เสริมศักยภาพกิจการใหม่

             นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งเน้น 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และคนว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค โควิ-19 โดยเฉพาะ “ภาคเกษตร” กระทรวงอุตฯ จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งฟื้นฟูภาคเกษตรสู่ “เกษตรอุตสาหกรรมที่ดีพร้อม” เพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง

             ซึ่งการฟื้นฟูเกษตรอุตสาหกรรมจะเริ่มทั้ง 3 ระดับ โดยระดับต้นน้ำคือการนำระบบการผลิตและบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใช้ในธุรกิจเกษตรมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพด้านการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในฟาร์ม เช่น การพัฒนาโดรนอัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการสำรวจผลผลิต ขณะที่ระดับกลางน้ำ หรือ กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรหรือยืดอายุด้วยหีบห่อ โดยใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรกล และนวัตกรรมการแปรรูปที่มีประสิทธิภาพ และ ระดับปลายน้ำ ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจ ขยายช่องทางการตลาด รวมถึงตลาดออนไลน์ที่ทันสมัย โดยได้มอบหมาย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry Transformation Center (ITC 4.0) ในทุกภูมิภาค ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายโซ่อุปทานของเกษตรอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ

               โดยล่าสุด กสอ. ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ อโลเวร่า สเปรย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีสีสันสวยงาม ทันสมัย ทั้งยังสะท้อนความเป็นสเปรย์ว่านห่างจระเข้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น มอบให้กับ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง พร้อมกันนี้ กสอ.ได้สาธิตการทำงานของ “โดรนเจ้าเอี้ยง” ในพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแบบอัจฉริยะ และเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชัน Agricultural Machinery Services on Demand หรือ AMAS (อะ-มัส) เพื่อรวบรวมผู้ให้บริการทางการเกษตร ซึ่งถือเป็น “เทคโนโลยีเครื่องจักรกลสมัยใหม่” ที่เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรในการลดต้นทุนด้านเคลื่องจักรกลและค่าบำรุงรักษา ทั้งยังช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตรงเวลาและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

                ทั้งนี้ “บ้านบึงโมเดล” ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้และสามารถต่อยอดการสร้างเกษตรอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งมีความพร้อมในการรองรับแรงงานที่มีแนวโน้มเดินทางกลับบ้านในช่วงว่างงาน ซึ่งนับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้บนพื้นฐานของ “เกษตรกรรมยั่งยืน” อย่างไรก็ดีกระทรวงอุตสาหกรรม มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในทุกพื้นที่ ในทุกกระบวนการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านศูนย์ ITC 4.0 ที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเกษตรอุตสาหกรรมได้กว่า 80 กลุ่มทั่วประเทศทันทีใน 90 วัน  

               อย่างไรก็ตามมาตรการมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมใน 90 วัน นอกจากเร่งฟื้นกลุ่มเกษตรกรสู่เกษตรอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องฟื้นฟู เนื่องจากมีส่วนเชื่อมโยงกับภาคของการท่องเที่ยว และได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนหรือ SMEs ที่มีการประกอบกิจการด้านของฝาก ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้สำคัญของคนกลุ่มนี้หดหายไป

               นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายเที่ยวปันสุขของรัฐบาลที่เน้นกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานราก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าของฝาก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน ภายใต้มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมใน 90 วัน

              ซึ่งวิสาหกิจชุมชน คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในลักษณะของฝากสินค้าเป็นรายได้ให้กับชุมชน ทว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าของฝาก ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2563 ได้ลดลงกว่า 3 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1 แสนล้านบาท เกิดการปรับโครงสร้างของวิสาหกิจจำนวนมากและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในภาวะโควิด-19 กสอ. จึงได้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าของฝากและเพื่อให้ธุรกิจแตกกอใหม่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น กสอ. จึงแนะนำทริค 3P เสริมศักยภาพให้กิจการใหม่ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

              1.Product DIProm หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ดีพร้อม กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยการปรับผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในขอบเขตราคาที่สามารถเข้าถึงพัฒนาอายุผลิตภัณฑ์ให้มีระยะเวลาที่นานขึ้น ทั้งยังต้องวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค รองรับค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไทย

              2.Process DIProm หรือ กระบวนการที่ดีพร้อม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเพิ่มศักยภาพในกระบวนการผลิต รวมทั้งการบริหารจัดการวัตถุดิบ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต โดยสำหรับธุรกิจที่แตกกอขึ้นมาใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบแผนการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่น เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

              3.Platform DIProm หรือ ตลาดที่ดีพร้อม การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย (Social Media) เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้าและบริการ ลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลลูกค้า เพื่อการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง โดยเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลในปัจจุบัน “ทราเวลบับเบิล” (Travel Bubble) วิสาหกิจชุมชน ต้องสามารถผนวกผลิตภัณฑ์เข้ากับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างประเทศ

              นอกจากนี้ กสอ. ยังได้มีการพัฒนาโครงการ “แตกกอผู้ประกอบการ” เพื่อเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจ         สร้างรายได้ให้สถานประกอบการและพนักงาน ผ่านกระบวนการปรับแนวคิดเพื่อสร้างแบบจำลองทางธุรกิจ (Business Model) พร้อมให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังการดำเนินธุรกิจ โดยธุรกิจที่แตกกอขึ้นมาใหม่นั้น อาจเป็นการแตกไลน์การผลิตเพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเดิมโดยพนักงาน หรือการลงทุนของกลุ่มวิสาหกิจเอง เพื่อขยายไลน์การผลิตใหม่ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน กสอ. ได้ดำเนินการจัดทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำการประกอบกิจการ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมเกษตร และคนว่างงาน โดยคาดว่า ภายใต้กรอบมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรม ให้ดีพร้อมใน 90 วัน

             โดยบริษัทขนมแม่เอย – เปี๊ยะ แอนด์ พาย (2003) จำกัด คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้ยอดการผลิตของบริษัทขนมแม่เอยฯ ลดลงกว่าร้อยละ 60 จากเดิมที่ผลิต 20,000 ชิ้นต่อวัน จำนวนแรงงานลดลงกว่าร้อยละ 80 จากการเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งทีมงาน กสอ. โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 ได้เดินทางเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมให้คำแนะนำในการปรับกลยุทธ์การผลิต ด้วยการคิดต่อยอดและแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนะนำช่องทางการตลาด   เพื่อเป็นการสร้างรายได้หล่อเลี้ยงภายในบริษัท รวมถึงพนักงานและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงในการประกอบอาชีพเสริม ผ่านการจำหน่ายไส้ขนม อาทิ เผือกกวน มันกวน และ ถั่วกวน ไปต่อยอดธุรกิจของตนเอง ด้วยการใช้ไส้ขนมเป็นส่วนประกอบของขนมปังสังขยา หรือนำไปใช้เป็นไส้ของซาลาเปา ซึ่งล่าสุดพบว่า พนักงานและคนในพื้นที่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้จริง โดยใช้เงินลงทุนเพียง 500 บาท นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นยอดขายไส้ขนมของบริษัทฯ ได้ถึง 2 เท่า หรือคิดปริมาณ 1 ตัน ต่อวัน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...