ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ นำทัพก้าวสู่ปีที่ ๒ ชูแนวทาง “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” เป็นสามกลไกหลัก มุ่งสู่การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงเน้นที่ตัวผู้เรียน เตรียมพร้อมคนก้าวสู่ศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดี ของประเทศต่อไป
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาไทยเพื่อให้มีศักยภาพในการรองรับและก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เน้นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคง และบูรณาการเพื่อเป็นทุนสำหรับการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาได้วางนโยบายโดยเน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ภายใต้นโยบายหลัก ๔ เรื่องคือ โค้ดดิ้ง (Coding) การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย และอาชีวะเกษตรที่ล่าสุดได้เปิดตัวโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่จะใช้กลไกของอาชีวะเกษตรในการขับเคลื่อนโครงการ
การก้าวไปสู่ปีที่ ๒ นับจากนี้ไปการศึกษาไทยจะเผชิญความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาภายใต้ความรับผิดชอบของตนเองจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ภายใต้แนวทาง ๑. “ทันสมัย” โดยเฉพาะนโยบายเรื่อง โค้ดดิ้ง (Coding) ที่ได้ออกแบบเนื้อหาหลักสูตรร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สนับสนุนเด็กไทยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ที่ได้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด เป็นนโยบายที่ปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชนไทย และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน จนขยายผลออกไปในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบัน รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ เพื่อขับเคลื่อนงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในช่วงสถานการณ์โควิดได้มีการจัดอบรมครูออนไลน์เพื่อเตรียมความพร้อม ที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมากมีครูสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมกว่าสองแสนคน โดยดร.คุณหญิงกัลยา ได้นิยามการเรียนการสอนโค้ดดิ้งว่า "ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล Coding for All… All for Coding"
“ดิฉันให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียน โดยการพัฒนาทักษะ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ ให้กับผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยตามความเหมาะสม ทั้งเด็กปกติและกลุ่มเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งทักษะที่สำคัญจำเป็น และควรเน้นเป็นอย่างยิ่ง คือ การคิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิต Coding เป็นทักษะภาษาคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยสร้างความมีตรรกะและแก้ปัญหาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการยกระดับคุณภาพวิทยาศาสตร์ไทย โดยได้ให้การสนับสนุนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) ในด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา พัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพสูงทัดเทียมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก เป็นตัวป้อนที่มีคุณภาพสูงเยี่ยมเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ นักคิดค้นของประเทศชาติต่อไปในอนาคต รวมไปถึงการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อพัฒนา การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย การเตรียมความพร้อมเพื่อการทดสอบ PISA 2021 โดยใช้แนวทางการพัฒนาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อการยกระดับ ผลการสอบ PISA ของประเทศไทย
๒. แนวทาง “เท่าเทียม” การศึกษาไทย จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลาย และมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในด้านจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ มีโรงเรียนเฉพาะความพิการ ๔๘ โรง นักเรียน ๑๒,๓๘๘ คน มีศูนย์การศึกษาพิเศษ ๗๗ แห่ง นักเรียน ๒๖,๓๓๙ คน และสำหรับเด็กด้อยโอกาส มีโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ ๕๑ โรง นักเรียน ๓๓,๕๒๘ คน ในด้านการส่งเสริม สนับสนุนนั้น มีการจัดการศึกษา แบบเรียนรวม ๒๔,๒๑๖ โรง นักเรียน ๔๓๒,๕๙๐ คน และมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา สำหรับคนพิการ
และ ๓. แนวทาง “ยั่งยืน” ยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อสร้างผู้ประกอบการภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับสังคมโลกในรศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอด ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร (Digital Agri College) โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน : STI (Science /Technology/Innovation) เพื่อยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมงเป็น Digital Agri College รวมไปถึงการเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้หลักสูตร “ชลกร” เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ทั้งหมดนี้จะใช้กลไกของสภาการศึกษาเป็นฟันเฟือง ซึ่งได้ผลักดันให้สภาการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านการปฏิรูปการศึกษา ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเชื่อมต่อกับทุกภาคส่วนในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
“ครูกัลยา เป็นเด็กต่างจังหวัด ดิฉันมายืนตรงจุดนี้ได้เพราะการศึกษา…ภายใต้แนวทาง “ทันสมัย เท่าเทียม ยั่งยืน” ในการก้าวสู่ปีที่ ๒ นี้ดิฉันจะทุ่มเททำงานด้วยความตั้งใจ จะระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จ ในการปฏิรูปทางการศึกษา เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดี ของประเทศต่อไป แม้จะต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนบ้างในบางเรื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้อง แต่ดิฉันจะเดินหน้าต่อและก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังที่ตั้งใจ สิ่งนี้คือคำมั่นสัญญา”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว