เรื่องราวเบื้องหลังการทำงานที่น่าสนใจของทีมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา รวมถึงบทบาทในอนาคตของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่มาช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับกระบวนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มากยิ่งขึ้น
เพราะโรงไฟฟ้าคือเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่มีความจำเป็นจะต้องเดินเครื่องตลอดเวลา เพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงให้ความสำคัญกับขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าในส่วนต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation & Maintenance : O&M) ที่มีหน้าที่เปรียบเสมือนทีมหมอที่คอยดูแลสุขภาพโรงไฟฟ้า ตัวอย่างเช่น ความสำเร็จของงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวโดยตัวแทนจากฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้าและฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล ประกอบด้วย คุณประวิทย์ จันทร์เอี่ยม หัวหน้ากองเทคโนโลยีและทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า,คุณชวนิทธิ์ โสสนุ้ย หัวหน้าแผนกบำรุงรักษาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กองบำรุงรักษาไฟฟ้าระบบควบคุมและพลังงานหมุนเวียน คุณธนพล ซื่อนิธิกุล หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียน ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล คุณภาสวร วรรณกาญจน์ หัวหน้าแผนกวิศวกรรมโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และพลังงานหมุนเวียน ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล คุณฉัตรชัย ภูกาบเพชร หัวหน้ากองบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา และคุณกฤษณุ บรรจงจิตต์ วิศวกร ระดับ 7 แผนกบำรุงรักษาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กองบำรุงรักษาไฟฟ้าระบบควบคุมและพลังงานหมุนเวียน
‘ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้าและฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล’ หัวใจสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสมรรถนะและประสิทธิภาพให้กับโรงไฟฟ้า กฟผ.
หากกล่าวถึงงานด้านการบำรุงรักษาของ กฟผ. ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้าและฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล ถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการบำรุงรักษาด้านไฟฟ้าและด้านเครื่องกลให้กับโรงไฟฟ้า กฟผ. ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและกังหันก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนทุกรูปแบบ นอกจากการให้บริการบำรุงรักษาแก่โรงไฟฟ้าทั้งหมดของ กฟผ. แล้ว ยังมีการให้บริการในรูปแบบธุรกิจสำหรับลูกค้าโรงไฟฟ้าเอกชนอีกด้วย
สำหรับโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. ที่ประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานลม โดยที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับขนาด 1,000 เมกะวัตต์ มีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย และโรงไฟฟ้าพลังลม จำนวน 14 ต้น ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 26.5 เมกะวัตต์ทั้งนี้ ภารกิจในการบำรุงรักษาถือเป็นหัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาเป็นอย่างมาก เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ต่าง ๆเหล่านี้จะมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลาในการเดินเครื่องะผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งตัวโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ถือว่าเป็นเสมือนแบตเตอรี่สำรองขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บกระแสไฟฟ้า ในกรณีที่ กฟผ. มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมระบบ
ศักยภาพรอบด้านของงานบริการด้านการบำรุงรักษาของ กฟผ.
ในฐานะที่ กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนานมากกว่า 51 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่ กฟผ. จะมีความเชี่ยวชาญในงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า (Operation & Maintenance : O&M) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงแค่งานบำรุงรักษาด้านไฟฟ้าและด้านเครื่องกลเท่านั้น หากแต่ยังมีหน่วยงานบำรุงรักษาในด้านอื่น ๆ อาทิ ด้านโยธา ด้านงานเคมีโรงไฟฟ้า ด้านงานอะไหล่ ซึ่งมีงานผลิตอะไหล่เครื่องจักร และอุปกรณ์โรงไฟฟ้า โดยมีโรงซ่อม ทดสอบ ตรวจสอบ และปรับสมดุลเครื่องจักรหมุน (Rotor) ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และงานสนับสนุนวิศวกรรมและอื่น ๆ เช่น การให้คำปรึกษาปัญหาด้านต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้า พร้อมแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง และงานทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจักร ประเมินสภาพเครื่องจักรและเครื่องมือ อุปกรณ์โรงไฟฟ้า ฯลฯ ภายใต้ศักยภาพของทีมงานระดับมืออาชีพ พร้อมองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมายาวนาน รวมถึงระบบการทำงานที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับสากล
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานอาชีพ (Competency Certification Center : CCC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบและรับรองความสามารถบุคลากรของ กฟผ. ให้มีมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งอบรมความรู้แบบครบวงจรโดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาบุคลากรด้านงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เพื่อให้มีความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และยังมีศูนย์ฝึกอบรมในด้านอื่น ๆ ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเสริมศักยภาพการทำงานให้กับบุคลากรในสายงานบำรุงรักษาของ กฟผ. ได้อย่างดีเยี่ยมอาทิ ศูนย์พัฒนางานเชื่อมและทดสอบฝีมือช่างเชื่อมสากล ศูนย์มาตรวิทยาและสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ. (Metrology and Calibration Center) เป็นต้น
ความแตกต่างในงานบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพื้นฐานและโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
เมื่อพิจารณาถึงโรงไฟฟ้าพื้นฐานจะพบว่า การบริหารจัดการของโรงไฟฟ้าจะค่อนข้างมีความยาก เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงาน
หมุนเวียนจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ดูเหมือนง่ายแต่ก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป เพราะโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณยูนิตที่มากกว่า ดังนั้น รูปแบบในการบริหารจัดการก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่มีความแตกต่างกันไป สำหรับในส่วนของเทคโนโลยีที่ใช้ในการบำรุงรักษาทั้งทางด้านไฟฟ้าและเครื่องกลนั้น อาจจะไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก และส่วนใหญ่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ แต่สิ่งสำคัญที่ถือได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ บุคลากรที่ทำงานด้านการบำรุงรักษา ตัวอย่างเช่น งานเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคองชลภาวัฒนา ทีมบุคลากรที่ทำงานด้านการบำรุงรักษาไฟฟ้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับฝึกฝนทักษะเฉพาะด้าน อาทิ ความรู้ความสามารถทางด้านไฟฟ้ากำลัง, ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลัง, ระบบควบคุมกังหัน ผสมผสานกับการทำงานบนที่สูง ทั้งนี้สภาพร่างกายของทีมบุคลากรที่ต้องได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ เพราะจะต้องทำงานอยู่บนที่สูงเหนือจากระดับพื้นดินถึง 90 เมตร ทีมบุคลากรดังกล่าวจะต้องทำงานแข่งขันกับเวลา เมื่อใดที่กังหันลมเกิดปัญหา ทีมงานจะต้องวางแผน วิเคราะห์ปัญหาและเข้าแก้ไขให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อให้กังหันทุกยูนิตพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา เครื่องมือในการทำงานก็จะต้องเลือกใช้เครื่องมือที่เฉพาะด้านกับการทำงานบนที่สูง รวมถึงการฝึกอบรมเฉพาะด้าน อาทิ การอบรมการปฏิบัติงานบนที่สูงด้วยเทคนิคการใช้เชือก การอบรมความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง รวมถึงการช่วยชีวิตบนที่สูง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะต้องมีการนำระบบการพยากรณ์อากาศเข้ามาใช้ประกอบในการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงฝน พายุ หรือฟ้าผ่า
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในยุคปัจจุบัน
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม (กังหันลม)
ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัยส่งผลให้ราคาของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงไปเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ กฟผ. ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอดก็คือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับเชื้อเพลิงฟอสซิล การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานมาบูรณาการให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของโลกในอนาคต
โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา คือหนึ่งในตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา นั่นคือ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ซึ่งโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped-Storage) และเป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบหนึ่งที่มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าต่ำที่สุด และสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ เนื่องจากส่งเสริมให้เกิดการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่แน่นอนมาผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น โดยจะนำกระแสไฟฟ้าจากระบบการผลิตของประเทศในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย คือ ช่วงหลังเที่ยงคืนจนถึงเช้ามาใช้สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม ขึ้นไปเก็บพักไว้ในอ่างพักน้ำตอนบนที่สร้างขึ้นใหม่แล้วปล่อยน้ำลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในแต่ละวัน
นอกจากนี้ ยังมีระบบกักเก็บพลังงานด้วยเซลล์เชื้อเพลิงร่วมกับพลังงานลม (Wind Hydrogen Hybrid System) นับเป็นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่ กฟผ. ได้นำนวัตกรรมชิ้นนี้มาใช้เป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจน เมื่อกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้มากเกินความต้องการของระบบ ไฟฟ้าจะถูกนำไปจ่ายให้กับเครื่อง Electrolyzerหรือเครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะทำหน้าที่แยกน้ำ (H2O) ที่อยู่ที่เครื่อง Electrolyzerออกเป็นก๊าซออกซิเจน (O2) และก๊าซไฮโดรเจน (H2) โดยที่ก๊าซไฮโดรเจนจะถูกนำไปกักเก็บในถังบรรจุก๊าซไฮโดรเจน ก่อนนำก๊าซไฮโดรเจนมาผลิตไฟฟ้าโดยผ่านเซลล์เชื้อเพลิง (Hydrogen Fuel Cell) เพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง โดยส่วนมากแล้วกังหันลมมักจะผลิตไฟฟ้าได้มากในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าต่ำ จึงนำพลังงานที่ผลิตได้นี้มาเก็บไว้โดยมีโครงการนำร่องที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อจ่ายไฟให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง
เป้าหมายการพัฒนาในอนาคตด้านการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
การให้บริการด้านงานบำรุงรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานทั้งในด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม นับเป็นเป้าหมายหลักที่ กฟผ. ยึดมั่นมาโดยตลอดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต ซึ่งความท้าทายสำคัญของทีมงานบำรุงรักษาของ กฟผ. นั่นคือ การดำเนินงานเพื่อให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุดในด้านการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งในแง่ของธุรกิจการบริการก็จะต้องก่อให้เกิดผลกำไรตามที่ลูกค้าต้องการ ลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ลดระยะเวลาในการซ่อมบำรุง รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีแผนในการพัฒนาระบบการทำงานและการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง