พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ ครั้งที่ 4/2559 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและพิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินโครงการฯ โดยมีนายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ มีเพียร ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกทม. และผู้แทนหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และสมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย ร่วมประชุม
ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวภายหลังการประชุม ว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ได้ทำจดหมายเปิดผนึกเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กทม.หยุดการเข้าครอบครองที่ดินพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬไว้ก่อนและพิจารณาข้อเสนอของภาคีเครือข่ายฯ นอกจากนี้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (9 ส.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญกทม.ประชุมร่วมกับผู้แทนชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ขอให้กทม.ดำเนินการยุติการรื้อย้ายชุมชนในพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬก่อน โดยทางคณะกรรมการสิทธิฯจะเสนอแก้ข้อกฎหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะทำงานพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬในวันนี้มีมติว่า กทม.จะต้องดำเนินการตามคำสั่งศาล และตามกฎหมายที่สั่งการตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้กทม.ต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ป้อมมหากาฬให้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยกทม. จะเดินหน้ารื้อย้ายตามหน้าที่ความผิดชอบไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ในที่ประชุมมีความเห็นว่าจะเริ่มดำเนินการรื้อย้ายบ้านเรือนของประชาชนที่สมัครใจก่อน ซึ่งเบื้องต้นมีจำนวน 12 ราย โดยประชาชนดังกล่าวได้มาขอเข้าพบตนเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้กทม.ช่วยรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกทม.ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
นอกจากนี้พล.ต.อ.อัศวิน ยังกล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนการรื้อย้ายจะดำเนินการควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม 1.กลุ่มชุมชนภายในป้อมมหากาฬ 2.กลุ่มนักวิชาการ นักอนุรักษ์ที่สนับสนุนชุมชน 3.กลุ่มประชาชนย่านใกล้เคียงที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬ และประชาชนทั่วไปที่จะได้ใช้พื้นที่ป้อมมหากาฬร่วมกัน โดยการประชาสัมพันธ์จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ แบ่งเป็นระยะก่อนการรื้อย้าย ระหว่างการรื้อยาย และภายหลังการรื้อย้าย เพื่อทำความเข้าใจถึงการพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ โดยในวันที่ 15 ส.ค.นี้จะมีการติดตั้งป้ายประกาศกทม.เพื่อให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬทราบ พร้อมทั้งมีจดหมายแจ้งไปยังทุกครัวเรือน จากนั้นวันที่ 3 ก.ย.2559 กทม.จะดำเนินการรื้อย้ายชุมชนตามกฎหมายต่อไป