ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลดเหลือ -9.4% ชี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการระบบหดของเศรษฐกิจ
4 ส.ค.2563 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจธุรกิจเอสเอ็มอี หลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่าร้อยละ 70 ได้แก่ ท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณี หัตถกรรม และภาคบริการ โดยร้อยละ 71.1 ทำให้ยอดขายลดลง รองลงมาขาดเงินหมุนเวียน แต่ร้อยละ 86.5
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่ามีโอกาสถึง 60% ที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัวเหลือ -9.4% จากสมมติฐานที่ว่าปริมาณการค้าโลกปีนี้ ลดลง -9% จากปีก่อน
ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้งภายใต้การจำกัดขอบเขตทั้งจำนวนและพื้นที่ ประมาณเดือน ต.ค.63 เป็นต้นไป ทำให้ในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพียง 7 ล้านคน หรือลดลงจากปีก่อน -82.3% ขณะที่คาดว่าเม็ดเงินงบประมาณตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ถูกอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจภายในปี 63 เพียงแค่ 25% หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท
สำหรับปัจจัยลบสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปี 63 ประกอบด้วย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง, ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากกว่าระดับปกติ, ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง, มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้หนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน คาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้รวมแล้วถึง 2.1 ล้านล้านบาท โดยเป็นเม็ดเงินที่หายไปจากมาตรการล็อกดาวน์ 1.5 ล้านล้านบาท การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงไป 4.8 แสนล้านบาท และผลกระทบจากภัยแล้งอีกราว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้เราต้องปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือเพียง -9.4% และมองว่าเศรษฐกิจมีโอกาสมากขึ้นที่จะติดลบเป็นเลข 2 หลัก
ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ ได้แก่ ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ, เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้, ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากการคลายล็อกดาวน์, ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง, การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เตรียมจะออกมา ถือว่าเป็น 2 แพร่ง เพราะถ้าเป็นมาตรการที่ดีและแก้ปัญหาได้ตรงจุดจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว แต่ในทางกลับกันหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดจะทำให้เศรษฐกิจซึมตัวแรงและลึกมากขึ้น และอาจจะเห็นตัวเลขคนตกงานในระดับล้านคนได้ในปีนี้
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก ไฟฟ้า ยาง และเครื่องนุ่งห่มจะเป็นอุตสาหกรรมแรกที่่มีโอกาสเสี่ยงตกงานสูง เพราะไม่สามารถส่งออกได้ หากนับรวมกับแรงงานภาคบริการที่ได้รับผลกระทบก่อนหน้า ทำให้ตลาดแรงงานไทยมีความเปราะบางมากที่สุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่ปี 2540 ในเดือน มิ.ย.มีแรงงานที่ใช้สิทธิจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 สูงถึง 1.5 ล้านคน และต้นเดือนกรกฎาคม เหลือประมาณ 900,000 คน แสดงว่ายังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน หากนับรวมแรงงานที่มีความเสี่ยงในครึ่งปีหลัง ทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม รวมแล้วประมาณ 1 ล้านคน