นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2563(ต.ค.62-มิ.ย.63) มีนักลงทุนที่ยื่นคำขอใบอนุญาตแจ้งเริ่มประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่เปิดดำเนินการแล้ว 33 แห่ง โดยพบว่าจำนวนผู้ประกอบการแจ้งเริ่มประกอบกิจการ รวมทั้งสิ้น 163 ราย แบ่งออกเป็นการขออนุญาตประกอบกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) จำนวน 104 ราย และนิคมอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ EEC จำนวน 59 ราย ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 14,698 ราย รวมมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 74,395 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2562 (ต.ค.61- มิ.ย.62) มีผู้ยื่นคำขอใบอนุญาต เพิ่มขึ้น 41 ราย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2 มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินธุรกิจภายในประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติ เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมซึ่งรายงานโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ที่ระบุว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สอดคล้องกับการขออนุญาตที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม หลังจากก่อนหน้านี้มีโรงงานบางแห่งที่อาจได้รับผลกระทบเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดการผลิต ประกอบกับไม่มีการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าต่างประเทศ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์จึงทำให้กำลังการผลิตกลับมาฟื้นตัว และกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง
ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการมาติดต่อยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้งผู้ที่แจ้งประกอบกิจการใหม่ และขยายกิจการเดิม พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซียังคงครองแชมป์มีนักลงทุนให้ความสนใจมาลงทุนเป็นลำดับแรก
นอกจากนี้ กนอ.ได้ออกมาตรการความช่วยเหลือให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว 2 ระยะ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถแบ่งเบาภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้พัฒนา และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ได้อย่างเหมาะสมทันท่วงที ลดภาระ เสริมสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง
"ไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้านที่เอื้อต่อการลงทุนโดยเฉพาะการมีซัพพลายเชนที่ดี (อ้างอิงข้อมูลจากผลการสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) ) เทียบกับหลายประเทศในแถบอาเซียน อีกทั้งการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งในนิคมอุตสาหกรรมมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมาลงทุน ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ร้อยละ 27.27 จีน ร้อยละ 16.36 ไต้หวัน ร้อยละ 9.09 ออสเตรเลีย ร้อยละ 5.45 และฮ่องกง ร้อยละ 5.45"