นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดกิจกรรมตามโครงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ของกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ จำนวน 8 เขต โดยมี ผู้บริหารสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้บริหารเขตกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ผู้แทนของสำนัก ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาผู้ช่วยรัฐมนตรี ผู้แทนสมาคมมัคคุเทศก์แห่งประเทศไทย ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ผู้แทนสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร ผู้แทนบริษัทเอกชน ผู้แทนประชาคมเขต เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 79 คน ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานเขตบางพลัด
กรุงเทพมหานคร โดย กองยุทธศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์และสังคม สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ได้จัดกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมในการกำหนดนโยบายการพัฒนาของแต่ละพื้นที่เขต และกำหนดทิศทางการพัฒนากรุงเทพมหานครในภาพรวมของกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการดำเนินกิจกรรมจะทำให้ได้ข้อมูล สภาพปัญหา แนวทางการพัฒนาพื้นที่กลุ่มเขตและโครงการนำร่องที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาเขต พัฒนากลุ่มเขต และพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไป สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นการนำเสนอข้อมูล และข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ จำนวน 8 เขต ประกอบด้วย เขตบางพลัด เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตคลองสาน และเขตจอมทอง โดยมีการแบ่งกลุ่มเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ได้ระดมความคิดเห็นและร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย ตลอดจนพิจารณาความเป็นไปได้ในการคิดสร้างโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาพื้นที่ของกลุ่มเขตกรุงธนเหนือต่อไป
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี พ.ศ.2575 คนทั่วโลกจะนึกถึงเมืองกรุงเทพฯ ในฐานะเป็นเมืองชั้นนำในด้านเศรษฐกิจ บริการ ความปลอดภัย ความสวยงาม น่าอยู่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ และมีชีวิตชีวา ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556 - 2575) เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ดังกล่าว แต่ประเด็นท้าทายที่สำคัญในการบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร คือ แผนระดับต่างๆ ของกรุงเทพมหานครไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาบางด้านยังมีปัญหาและมีความซับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาในเชิงพื้นที่ เช่น การใช้พื้นที่ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และสภาพแวดล้อม เป็นต้น กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นจะต้องจัดทำแผนพัฒนาเฉพาะด้าน และแผนพัฒนาในเชิงพื้นที่ ซึ่งการจัดทำแผนพัฒนาในเชิงพื้นที่ จะต้องมีการพิจารณาเชิงลึก เนื่องจากสภาพพื้นที่ ต้นทุนทางประวัติศาสตร์ ลักษณะเด่นทางสังคม เศรษฐกิจการลงทุน และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ประชาคมกลุ่มต่างๆ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทาง ประเด็น และนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่กลุ่มกรุงธนเหนือ เพื่อร่วมมือกันร่างภาพเมืองซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาในเชิงพื้นที่ฝั่งธนบุรีต่อไป