ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
การตรวจสอบของ ป.ป.ช.
20 ส.ค. 2563

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

 

การตรวจสอบของ ป.ป.ช.

              สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ช่วงนี้โควิท-19 ซาลงไปบ้าง กลับเป็นว่ามีเรื่องลูกเจ้าสัวขับรถชนตำรวจตายขึ้นมาแทนจนกระทั่งหน่วยงานของรัฐ 2 หน่วยปัดความรับผิดชอบเป็นพัลวัน ทั้งยังมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนกัน 3-4 คณะ จนวันนี้ยังไม่อาจเดาตอนจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร แต่ก็คิดว่ารัฐไทยเราคงยังไม่อาจก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์ได้เร็ววันหรอกครับโดยเฉพาะอุปถัมภ์ภายใต้ผลประโยชน์ของใคร หรือกลุ่มใดที่สามารถใช้อำนาจรัฐครอบงำได้ 

มาว่าของเราต่อดีกว่าครับ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.คร่าวๆ ครับ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ห้ามคณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่และบุคคล ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด เปิดเผยข้อมูล ซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลบรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่  ถ้าแปลความก็แสดงได้ว่า ถ้าเป็นข้อมูลทั่วไปของบุคคลก็อาจเปิดเผยได้ แต่กฎหมายก็ระบุเพิ่มเติมอีกว่า การเปิดเผยข้อมูลการดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในแต่ละขั้นตอน ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทําการใดอันจะทําให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว นั่นก็หมายถึงว่า ที่เขียนเช่นนี้ก็เพื่อปกป้องบุคคลประเภทที่กล่าว มิให้ต้องได้รับอันตรายอันเกิดจากการให้การกับ ป.ป.ช.

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ กฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ กล่าวคือ ประการแรก ในชั้นก่อนการไต่สวน ห้ามเปิดเผยชื่อผู้ถูกกล่าวหา เว้นแต่มีเหตุอันจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ประการที่สอง เมื่อได้ดําเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นแล้ว มีพยานหลักฐานพอสมควรก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด และประการที่สาม เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นหรือวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์การกระทําความผิด ให้เปิดเผยความเห็นหรือคําวินิจฉัยได้ เว้นแต่จะเปิดเผยชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ซึ่งเป็นพยานมิได้ และต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงว่า กฎหมายห้ามเปิดเผยในช่วงเวลาไต่สวนกันยังไม่แล้วเสร็จและกรรมการป.ป.ช.วินิจฉัยแล้วเสร็จ และถ้าจะเปิดเผยก็สามารถทำได้เพียงที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสํานวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวนหรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดําเนินการ จนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ ซึ่งจะเห็นว่า ถ้าจะเปิดเผยก็ทำได้เพียงเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนคดีที่อาจเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวเนื่องกันเป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ.2561 ได้ขยายความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กรณีห้ามมิให้กรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด เปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะตามที่กำหนดไว้เช่นกัน

แต่ในระเบียบยังมีข้อยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นให้ผู้ไต่สวนหรือผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องตามระเบียบนี้ ทำความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาและมีมติ เว้นแต่ระเบียบนี้จะได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว นอกจากนั้น ระเบียบนี้ยังกำหนดเพิ่มเติมในเรื่องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตอีกด้วย โดยระเบียบฉบับนี้ได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายอาจเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ในชั้นไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นเพื่อให้สาธารณชนทราบ แต่การเปิดเผยดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคล หรือความเที่ยงธรรม ซึ่งก็หมายถึงว่า ประชาชนทั่วไปจะขอทราบข้อมูลก็ได้แต่ต้องไม่กระทบต่อรูปคดี

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.มักจะไม่เปิดเผย เพราะกลัวเสียรูปคดีกับเรื่องความปลอดภัยนั้นละครับ ทั้งนี้ กฎหมายยังระบุโทษในการเปิดเผยไม่ชอบอีกว่า ถ้าป.ป.ช.เองถ้ามีการฝ่าฝืนไปเปิดเผย ไม่ว่าจะในรูปแบบใด เช่น ออกสื่อ บอกเล่ากันต่อ แล้วกฎหมายให้เลขาธิการตรวจสอบเพื่อหาตัวผู้เปิดเผยข้อมูลโดยเร็ว หากพบให้ดําเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่เปิดเผยข้อมูล หากเป็นการจงใจให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเลขาธิการไม่ทำให้ถือว่าเป็นความบกพร่องของเลขาธิการ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดําเนินการตามควรแก่กรณี ตายเลยละท่านเลขาธิการของผม ส่วนคนอื่นๆ ถ้าเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 (สองหมื่นบาท) หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหากเป็นการเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา หรือชื่อและที่อยู่ของผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง หรือเปิดเผยทะเบียนที่จัดทําขึ้นตามกฎหมายกำหนดคนนั้น ต้องระวางโทษจําคุกเพิ่มขึ้นไปอีก คือ ตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปีและปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท (สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท)

เห็นมั้ยละครับท่านผู้อ่าน ป.ป.ช.ต้องรักษาความลับมากกว่าเรื่องปกติทั่วไป เพราะผลคดีกระทบผู้คนอีกมาก แต่ก็อย่างว่ามันก็เหมือนกับที่เล่าข้างต้นอีกว่า ระบบอุปถัมภ์มันฝังรากสังคมไทยอยู่อีกมากครับ ติดตามตอนต่อไปครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...