นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2563 ได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อใช้เขตทางของกรมทางหลวงในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท โดยร.ฟ.ท.ไม่ต้องจ่ายค่าใช้สิทธิ์ในเขตทางแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ-หน่วยงานรัฐ
สำหรับพื้นที่ที่จะใช้เขตทางมีทั้งสิ้น 29 จุด บนถนนของกรม 19 เส้นทาง ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และ ระยอง แบ่งเป็นโครงข่ายถนนปัจจุบัน 16 เส้นทาง และโครงข่ายถนนในอนาคต 3 เส้นทาง ได้แก่ ถ.วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3, มอเตอร์เวย์ M61 สายชลบุรี-นครราชสีมา-หนองคาย และถ.เลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา
“ได้เคลียร์อุปสรรคพร้อมส่งมอบแล้ว 15 จุด เหลืออีก 14 จุดที่อยู่ระหว่างตรวจสอบร่วมกับ ร.ฟ.ท.ในประเด็นการวางตอม่อของรถไฟความเร็วสูงและการใช้พื้นที่ในการวางเสาว่ามีมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามีการวางตอม่อแล้วทำให้ถนนชำรุด ทางร.ฟ.ท.ก็ต้องซ่อมปรับปรุงและเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง”
นายสุจิตต์ เชาว์ศิริรกุล รองผู้ว่าร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในการขอใช้เขตทางของหน่วยงานอื่นๆ นอกจากกรมทางหลวงแล้ว มีทั้งกรมป่าไม้, กองทัพเรือ (ทร.), ซึ่งมีอีกหลายหน่วยงาน ส่วนความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ของโครงการ ตอนนี้ตามแผนจะอยู่ในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. 2564 ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่ในช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภาก่อน ที่เหลือจะทยอยส่งมอบภายใน 2 ปี 3 เดือน ตามที่อีอีซีกำหนดไว้
ส่วนการของบประมาณสำหรับรื้อย้ายสาธารณูปโภค ได้ขอไปในงบประมาณ 2564 ประมาณ 4,100 ล้านบาท หน่วยงานที่ขอไป เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) การประปานและการไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564
“การรื้อย้ายผู้บุกรุก ในช่วงดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภามีประมาณ 1,300 ราย แต่ได้ตัดช่วงพญาไท – สุวรรณภูมิออกไปแล้ว เพราะผู้บุกรุกในช่วงดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับการก่อสร้าง ทำให้เหลือผู้บุกรุกที่ต้องไล่รื้อจำนวน 560 ราย ซึ่งกำลังเจรจาและไกล่เกลี่ยอยู่”
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กล่าวว่า ในส่วนความคืบหน้าของการรับมอบโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ของบจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (ซี.พี.) ในฐานะเอกชนคู่สัญญา ได้รับทราบว่าทางซี.พี.ก็เริ่มเข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว
“แอร์พอร์ตลิงก์ เริ่มเห็นภาพชัดในการจะปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น เชื่อว่าจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้คือจะส่งมอบได้ภายในเดือน ต.ค. 2564 ”
นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมคณะทำงานส่งมอบพื้นที่เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการหารือถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการงบฯอาจจะมีการตัดลดงบประมาณที่ขอในการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคลง แต่ภาพรวมแล้วไม่มีปัญหาอะไร
เนื่องจากแต่ละหน่วยที่ของบฯเข้ามายืนยันว่า สามารถใช้เงินจากกองทุนต่างๆภายในหน่วยมาใช้ในส่วนนี้ได้ ส่วนหน่วยงานที่ไม่มีกองทุน กำลังพิจารณาช่องทางในการขอใช้เงินนอกงบประมาณแทน โดยอยุ่ระหว่างพิจารณาด้านข้อกฎหมายว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน