นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการติดตาม เร่งรัด และขับเคลื่อนแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ ที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างเร่งด่วน เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม รวดเร็วทันเหตุการณ์ โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ปลัดจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา
สำหรับการเดินทางมาของ รมช มท.ครั้งนี้ เพื่อติดตามรับฟังแนวทาง ผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานในจังหวัดสงขลา ในเรื่องที่ 1. คือแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา กลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2563 , 2564 และ การเตรียมดำเนินการในแผนพัฒนาปี 2565 ในเรื่องที่ 2 ได้แก่ เรื่องของภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณและการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และเรื่องที่ 3.ในเรื่องของความคืบหน้าการพัฒนาด่านศุลกากรแห่งใหม่ ของอำเภอสะเดา และ ด่านศุลกากรบ้านประกอบ อำเภอนาทวี (ความคืบหน้าการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร และโครงสร้างพื้นฐาน)
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นการมาร่วมประชุมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะมาให้คำที่ปรึกษากับจังหวัดในจังหวัดต่างๆ ซึ่งผมนายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจ ให้ดูแลพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราชวันนี้สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจจะมาร่วมปรึกษาหารือก็คือ เรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ซึ่งสิ้นเดือนนี้ ถือเป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 แล้ว ก็อยากจะมาเร่งรัดให้จังหวัด เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ว่าในขณะนี้การลงทุนภาคเอกชนเราอ่อนแอลง ฉะนั้นการลงทุนในภาครัฐ จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าภาครัฐมีงบประมาณแล้วไม่เร่งรัดการเบิกจ่าย ก็จะทำให้เสียโอกาส ให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น ฉะนั้นการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ จึงเป็นเรื่องจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบการลงทุนในแต่ละจังหวัด แต่ละกระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมาในงบของจังหวัดก็ดี รวมตลอดถึงได้ขอความกรุณาทางท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นเองก็มีงบประมาณในแต่ละปีมาก ก็ขอให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นในพื้นที่ ให้เดินไปข้างหน้าได้ เรายังมีโครงการในเรื่องของด่านชายแดน ก็ยังเร่งรัดให้โครงสร้างพื้นฐานอื่นได้สำเร็จ และเปิดใช้งานได้อย่างเช่นด่านสะเดา เราก็มาเร่งรัดว่า เมื่อตัวด่านเสร็จแล้ว แต่โครงสร้างต่างๆที่ยังไม่เสร็จ ก็ทำให้ด่านไม่สามารถใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนที่พรุเตียวก็ดี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนจ่ายเงินเวนคืน แม้จะได้ผู้รับจ้างไปแล้วก็ยังเริ่มโครงการไม่ได้ เพราะว่ายังอยู่ในตอนการจ่ายค่าเวนคืน หรือแม้แต่จุดเชื่อมระหว่างที่พรมแดนไทย – มาเลเซีย ซึ่งยังต้องหาจุดพิกัดที่แน่นอน ในอันที่จะเป็นจุดเชื่อมซึ่งได้มีการตกลงเบื้องต้นในระดับเจ้าหน้าที่กันบ้างแล้ว แต่ยังต้องรอระดับนโยบายกระทรวงการต่างประเทศของไทย เจรจากับกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซียอีกครั้ง แต่เนื่องจากเราติดภาวะของโควิด- 19 จึงทำให้เรื่องนี้ชะลออยู่ อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรัดต่อไป นอกจากนั้นก็ติดตามปัญหาอุปสรรค ของการก่อสร้างถนน ด่านบ้านประกอบ ซึ่งตามแผนงานโครงการต้องทำเป็นถนน 4 ช่องจราจร แต่ขณะนี้ยังทำไม่ได้ เพราะยังติดขัดเรื่องการจ่ายค่าอาสินที่ดิน ทั้งเรื่องของ สปก. เรื่องของป่าไม้ และของเอกชน ซึ่งก็จะเร่งรัดจ่ายเรื่องอาสินให้ครบให้หมดแล้ว ก็จะสามารถพัฒนาเป็นถนนช่อง 4 ช่องจราจรได้ ต่อไปสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คิดว่าจะต้องเร่งรัดให้เสร็จในจังหวัดสงขลาของเรา และนอกจากการพัฒนาเดินไปข้างหน้าได้แล้ว ก็จะเร่งรัดงบประมาณที่ยังคั่งค้างอยู่ ดังที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว นี่คือสิ่งที่จะมารับฟังปัญหาว่าติดขัดที่ไหน ซึ่งถ้าติดขัดเกินกว่าศักยภาพในระดับจังหวัดที่จะประสานได้ และผมก็จะประสานไปยังระดับนโยบายต่อไป
สำหรับในส่วนประเด็นปัญหาเร่งด่วนของจังหวัดสงขลา พอสรุปได้ประกอบด้วย ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องของการท่องเที่ยว การลงทุนขนาดใหญ่ และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาด้านการเกษตร รวมถึงราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง และปัญหาน้ำเค็มบุกรุกทะเลสาบ ปัญหาการคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดกลาง ขนาดใหญ่ในพื้นที่ ปัญหาด่านศุลกากรสะเดาไม่สามารถเปิดทำการได้ ปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมาก็จะมีการติดตามดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง