นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้ว โดยร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า ปีนี้มีของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้วในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่จะต้องนำมาทำลายทั้งสิ้น 785,376 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 354 ล้านบาท
ทั้งนี้ พิธีทำลายของกลางฯ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้ค้า นักลงทุน และเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา และในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 90 แห่งร่วมเป็นสักขีพยานและมีส่วนร่วมในพิธีดังกล่าวผ่านทางโปรแกรม Zoom
โดยได้ดำเนินการถ่ายทอดสดบรรยากาศการทำลายสินค้าละเมิดจากสถานที่ทำลายของกลางใน 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และ สระบุรี ส่วนวิธีการทำลายจะใช้การบดทำลายแล้วนำเข้าเตาเผา และ บีบอัด สำหรับสินค้าที่ไม่สามารถเผาทำลายไม่ได้ ก่อนนำไปแยกประเภทรีไซเคิล และ การฝังกลบ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนสากล
ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่คดีถึงที่สุดแล้วที่จะต้องนำมาทำลายครั้งนี้มีหลายรายการ อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า นาฬิกา โทรศัพท์มือถือ แผ่นซีดี วีซีดี แว่นตา เครื่องสำอาง หมวก ผ้าห่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ ของกลางทั้งหมด มาจากการจับกุมและตรวจยึดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 293,310 ชิ้น กรมศุลกากร จำนวน 285,842 ชิ้น และกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 206,224 ชิ้น
สำหรับ สินค้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดคือนาฬิกาข้อมือละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 121 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่มีการละเมิดมากที่สุดได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย สำหรับการจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนกว่า 11 ล้านชิ้น ส่วนใหญ่ พบตามด่านศุลกากรพื้นที่ และคาดว่าปีนี้ จากการระบาดของโรคโควิด19 จะสามารถทำให้การจับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้น้อยลง