ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
'คมนาคม'ดันศูนย์ฝึกอู่ตะเภา หนุนไทยฮับการบินอาเซียน
17 ก.ย. 2563

การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีความคืบหน้าไม่เฉพาะการพัฒนาสนามบินที่บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้สิทธิพัฒนาและบริหารสนามบิน 50 ปี ในขณะที่การพัฒนาส่วนอื่นมีความคืบหน้ารวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ที่จะผลิตบุคลากรเพื่อป้อนเมืองการบินภาคตะวันออก

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา และโครงการพัฒนาทางอากาศ ณ พื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โดยระบุว่า โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมฯ อู่ตะเภา อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่จากสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ

ทั้งนี้ สบพ.ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการพื้นที่ ประกอบไปด้วย สิ่งปลูกสร้างเดิม ระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ ตลอดจนการวางผังอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งต้องยึดหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในเรื่องความสูงอาคาร ต้องไม่เกิน 45 เมตร เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ภายนอกเขต AIRSIDE ของสนามบิน

อีกทั้ง โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมฯ อู่ตะเภา จะต้องยึดหลักตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอื่นๆ ของประเทศไทย มาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน กฎหมายว่าด้วยการผลิตพลังงานควบคุม กฎหมายว่าด้วยการสงเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นต้น

นายถาวร ยังระบุด้วยว่า พื้นที่ใกล้เคียงของโครงการศูนย์ฝึกอบรมฯ อู่ตะเภานั้น ยังประกอบไปด้วย ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ปัจจุบันเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) มีมูลค่าเงินลงทุนโครงการ จำนวน 293,699 ล้านบาท และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2568 เป้าหมายของการพัฒนาเพื่อผลักดันให้เป็น EEC Airport การเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค รวมทั้งรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน

ส่วนด้านการให้บริการเดินอากาศ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลจากทางบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จํากัด (บวท.) ซึ่งมีแผนจะพัฒนาระบบเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศเพื่อรองรับการเปิดใช้งานสนามบินเฟสใหม่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกลุ่ม UTA (บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด) เพื่อกำหนดพื้นที่ก่อสร้างหอบังคับการบินและจุดวางตำแหน่งระบบอุปกรณ์ในสนามบิน ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้

รายงานข่าวจากสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ระบุว่า ตำแหน่งที่ตั้งของโครงการศูนย์ฝึกอบรมฯ อู่ตะเภา จะอยู่บนพื้นที่ของเมืองการบินภาคตะวันออก มีพื้นที่ได้รับจัดสรรจากกองทัพเรือ รวม 100 ไร่ พื้นที่ใกล้เคียงติดกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการส่วนต่อขยาย MRO ที่จะมีการผลักดันลงทุนในอนาคต

โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างออกแบบก่อสร้างอาคาร มีกรอบแนวคิดพัฒนาให้เป็นอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน ซึ่งอาคารและสิ่งก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอบรมฯ อู่ตะเภา ระยะที่ 1 อาทิ อาคารเรียนช่างอากาศยาน และโรงจอดอากาศยาน พื้นที่ราว 32,000 ตารางเมตร ลานจอดอากาศยาน (APRON) 16,300 ตารางเมตร อาคารสาธารณูปโภค 2,000 ตารางเมตร อาคารบริหารงานและโรงอาหาร 13,000 ตารางเมตร รวมไปถึงลานฝึกซ่อมอากาศยานชนิดมีหลังคา ลานจอดรถ และทางเดินเชื่อมลอยฟ้า เป็นต้น

สำหรับงบประมาณค่าก่อสร้างโครงการ เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 1,800 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าก่อสร้างอาคารเรียนช่างอากาศยานและโรงจอดอากาศยาน 929 ล้านบาท ค่าก่อสร้างลานจอดอากาศยาน 228 ล้านบาท อาคารสาธารณูปโภค 168 ล้านบาท อาคารบริหารงานและโรงอาหาร 405 ล้านบาท ลานฝึกซ่อมอากาศยานชนิดมีหลังคา 12.7 ล้านบาท รวมไปถึงอาคารรักษาความปลอดภัย 11.78 ล้านบาท ทางเชื่อมระหว่างอาคาร 11 ล้านบาท ที่จอดรถแบบมีหลังคา 3.74 ล้านบาท อาคารพักขยะ 1.5 ล้านบาท และงานภายนอกอื่นๆ อีก 43.6 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเขตพัฒนาพืเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นการต่อยอดความสำเร็จมาจจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ” เพื่อพัฒนาไปสู่ประตูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง และเป็นการ่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยรัฐจะได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรกของสัมปทาน พร้อมท้งเกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบินเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่แอสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 50 ปี

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...