รมช.แรงงาน หารือร่วมภาคอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทย รองรับ 12 อุตสาหกรรมของประเทศ
17 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ร่วมกับสถานประกอบกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม 37 หน่วยงาน เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และความต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับสถานประกอบกิจการ ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศต่อไป โดยมีหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าร่วม ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
รมช.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีมาตรการช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ภายใต้นโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับกระทรวงแรงงานจาก “กระทรวงด้านสังคม” ไปสู่ “กระทรวงด้านเศรษฐกิจ” ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยใช้หลัก 3 ประการคือ “สร้าง-ยก-ให้” สร้างแรงงานคุณภาพให้มีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สถานประกอบกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรม S-Curve เพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve ทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC และเขตพัฒนาพิเศษในปี 2563 ยกระดับฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นให้แก่แรงงานทั่วไปและนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา เพื่อนำไปสู่การรับรองความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะ ให้แรงงานกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการฝึกอบรมทักษะฝีมือ เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ ให้มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของแรงงานและครอบครัว
รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 วิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี กพร. จึงมีแนวทางที่จะสร้าง Training Platform เพื่อแนะนำหลักสูตรพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตลอดจนนำหลักสูตรการฝึกอบรมออนไลน์ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดในประเทศไทยมาไว้ที่เดียว สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายที่จะพัฒนาฝีมือแรงงาน 4.13 ล้านคน ดำเนินการโดย กพร. กว่า 1.3 แสนคน และส่งเสริมสถานประกอบกิจการดำเนินการ 4 ล้านคน นอกจากนี้ กพร.ยังมีมาตรการที่จะช่วยเหลือสถานประกอบกิจการ คือ กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงกระตุ้นและจูงใจให้สถานประกอบการพัฒนาลูกจ้างของตน
จากการประชุมหารือในครั้งนี้ พบว่า ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมได้ขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานช่วยเหลือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ร่วมกับกระทรวงศึกษา กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขต EEC ตลอดจนสร้างฐานข้อมูลตลาดแรงงานที่เป็น Big data โดยให้สถานประกอบการระบุความต้องการแรงงานในสาขาต่างๆ เพื่อให้ภาครัฐนำไปกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและลดขั้นตอนการทำงาน
นอกจากนี้ยังขอให้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในรูปแบบใหม่ทั้งทักษะพื้นฐานและเพิ่มเติมทักษะด้านภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น เนื่องจากภายหลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจเปลี่ยนตาม สำหรับผลการหารือวันนี้จะนำเข้าสู่คณะกรรมการ (กพร.พช) เพื่อขับเคลื่อนต่อไป