กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) หนุนแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ “BCG โมเดล” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ผ่านการต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม จับมือ “อินฟอร์มา มาร์เก็ต” จัดงานสัมมนาวิชาการ “อนาคตอุตสาหกรรมไทย...ก้าวไกลสู่ BCG” บูรณาการความรู้ ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่สากล ผ่านการสร้างความเชื่อมั่น ภายใต้การดำเนินธุรกิจอย่างปลอดภัยทั้งต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “อนาคตอุตสาหกรรมไทย...ก้าวไกลสู่ BCG” ซึ่งจัดโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ ส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงานฉบับใหม่ จำนวน 70,180 โรงงาน และเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้เพิ่มขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมสีเขียว ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) และนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด (GCIP)
ทั้งนี้ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) นั้น เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ไปพร้อมกัน โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว ที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย ผ่านการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยกำหนดยุทธศาสตร์หลัก 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1. การเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและเข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริม พัฒนาและต่อยอดงานวิจัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีสมรรถนะสูงในทุกด้าน ยุทธศาสตร์ที่ 2. การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม ผ่านการปรับปรุงข้อกฎหมาย กฎระเบียบและกระบวนการต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการลงทุนและประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 3. การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านการพัฒนากลไกในการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน มีโรงงานอุตสาหกรรมได้รับโล่รางวัลแล้ว 999 ราย และมีโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง (CSR-DIW Continuous) มากกว่า 400 ราย และยุทธศาสตร์ที่ 4. การพัฒนาสมรรถนะองค์กรเพื่อให้บริการอย่างมีคุณภาพ ผ่านการส่งเสริมจริยธรรม ธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติราชการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
"เป้าหมายสุดท้ายของหลักการ BCG โมเดล (Bio Circular Green) เพื่อนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นในการพัฒนาให้ประเทศไทยมีเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม หรือ Eco Industrial Town ไม่น้อยกว่า 40 พื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่นำเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปเหนี่ยวนำเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทาง BCG โมเดล ให้เติบโตไปด้วยกันภายใต้สภาวะแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กายภาพและการบริหารจัดการในพื้นที่ให้เกิดความสมดุลทุกมิติ" นายภานุวัฒน์ กล่าว
นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการ เรื่อง “อนาคตอุตสาหกรรมไทย...ก้าวไกลสู่ BCG” ได้จัดขึ้นในวันที่ 23 – 25 กันยายน 2563 โดยเป็นการจัดงานภายใต้งาน Boilex Asia และ Pumps and Valves Asia 2020 ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนการจัดงานร่วมกับ บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ต จำกัด มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง และปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 โดยมีหัวข้อสัมมนาทั้งหมด 16 หัวข้อ และมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้าประมาณ 1,400 คน โดยการจัดงานได้มีมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมงานสัมมนา
โดยการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ Factory 4.0 และการใช้แนวคิดเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG โมเดล” อันได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ผ่านการสัมมนา และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม วัตถุอันตราย และความปลอดภัย เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโรงงาน บุคลากรในโรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ Safety Application การตรวจประเมินตนเองด้านความปลอดภัย ระบบดิจิทัลเพื่อประชาชนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างครบมิติ ทั้ง พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งครอบคลุมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด (Clean Technology) และ Eco Industrial Town เครื่องมือการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและเขตอุตสาหกรรมสู่ BCG
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลสำเร็จตามภารกิจของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิต สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย วัตถุอันตราย พลังงาน และความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนนโยบายสำคัญ ๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น ระบบดิจิทัลเพื่อการรับการบริการของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม บริการรับคำขอประกอบกิจการโรงงานผ่านระบบดิจิทัล บริการใบอนุญาต ใบรับรองแบบดิจิทัล รายงานผลการปฏิบัติการตามกฎหมาย (Self - Declaration) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เมืองอุตสาหกรรมนิเวศ (Eco Industrial Town) รวมทั้งการบริหารจัดการวัตถุอันตรายและความปลอดภัย เป็นต้น
"กรมโรงงานอุตสาหกรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นการสื่อสารข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้นำไปสู่การบูรณาการการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม วัตถุอันตราย สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เกิดความปลอดภัยต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคประชาชน ลดความขัดแย้ง และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน" นายศุภกิจ กล่าว