นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้สามารถแก้ปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 วงเงิน 4.1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เฟส 1ช่วง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ออกจากพื้นที่ เพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร โดยจะเร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย( รฟท.) ออกประกาศเชิญชวนจัดจ้างรื้อย้ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.63
ทั้งนี้คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ และออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP)ได้ตามเป้าหมาย ในเดือน มี.ค.64 โดยต้องเร่งรัดเรื่องเวนคืนที่ดิน ย้ายผู้บุกรุก รื้อย้ายสาธารณูปโภค ยกเลิกสัญญาเช่า และการขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานรัฐเพิ่มเติม
ส่วนการย้ายผู้บุกรุก 302 หลังคาเรือนออกจากพื้นที่ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 208 หลังคาเรือน รอรื้อย้าย 43 หลังคาเรือน ขึ้นศาลไกล่เกลี่ย 5 หลังคาเรือน และรอเจรจาอีก 46 หลังคาเรือน คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมด ต.ค.63
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เร่งรัดให้ กลุ่มซีพี เร่งพิจารณาเลือกจุดที่จะใช้ก่อสร้างเป็นสถานีพัทยา พร้อมกับทำแผนการพัฒนาเมืองรอบสถานี (TOD) ให้ชัดเจน และให้นำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนดำเนินงานในภาพรวม โดยเสนอให้นำผลการศึกษาการพัฒนา TOD ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาเป็นแนวทางดำเนินการ
"การย้ายจุดก่อสร้างสถานีพัทยา จะต้องใช้เวลา เพราะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งต้องมีการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และต้องรื้อย้ายสาธารณูปโภค หากตัดสินใจล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ล่าช้าได้ ส่วนการส่งมอบพื้นที่สถานีมักกะสัน 140 ไร่นั้น ขณะนี้ซีพีได้ลงสำรวจพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่”