การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการในวันนี้มีกรรมการเข้าร่วมประชุมทั้งหมด ๒๕ ท่าน (รวมประธาน) จากทั้งหมด ๒๗ ท่าน จึงมีองค์ประชุมครบตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่สำคัญหลายเรื่อง สรุปดังนี้
๑. คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย จำนวน ๔ ฉบับ ประกอบด้วย ๑) ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ๒) ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับการกำหนดค่าคลาดเคลื่อนของสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของกรมประมง ๓) ร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการออกใบนำผ่านวัตถุอันตรายที่ อย. รับผิดชอบ และ ๔) ร่างระเบียบคณะกรรมการวัตถุอันตรายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการเปรียบเทียบปรับ หลังจากนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะนำไปเสนอรัฐมนตรี หรืออธิบดีของแต่ละหน่วยงานลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
๒. หลังจากมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๓
ซึ่งกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ซึ่งห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๓ เป็นต้นมา คณะกรรมการฯ ได้รับข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ พอสมควร ทั้งที่เป็นการรายงานผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้อเสนอจากบุคคลและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย ให้คงมติคณะกรรมการฯ (ไม่ขยายเวลา) และขอให้ทบทวนมติที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต รวมทั้งมีผู้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางลดผลกระทบ ที่ประชุมได้มีการอภิปรายให้ความเห็นอย่างกว้างขวางและมีกรรมการส่วนหนึ่งเห็นว่าควรมีการทบทวนมติเกี่ยวกับการออกประกาศดังกล่าว
ที่ประชุมจึงได้มีการลงมติโดยเปิดเผย โดยขณะลงมติ มีกรรมการอยู่ในห้องประชุมจำนวน ๒๔ ท่าน มีผู้เห็นด้วยกับการทบทวนมติ จำนวน ๔ ท่าน และไม่เห็นด้วย จำนวน ๒๐ ท่าน ที่ประชุมจึงมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ว่า ในชั้นนี้ยังไม่สมควรทบทวนการออกประกาศที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๓ และมีการฟ้องคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง จึงเห็นควรมอบหมายกรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลและข้อสังเกตจากคณะกรรมการไปพิจารณาดำเนินการและรายงานคณะกรรมการต่อไป
๓. กรมวิชาการเกษตรเสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรา ๑๕ และการกำหนดให้มีระบบมาตรฐาน ISO ประกอบกับมีผู้แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก จึงมีมติมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร
นำข้อสังเกตดังกล่าวของคณะกรรมการไปพิจารณาทบทวน และให้แจ้งผลการทบทวนในประเด็นที่มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยให้ฝ่ายเลขานุการทราบเพื่อนำเสนอคณะกรรมการต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ (GMP) จำนวน ๑ คณะ