คมนาคมแตะเบรกรถไฟทางคู่เฟส 2 สั่งทบทวนความเร่งด่วน ทั้งงบประมาณ ปริมาณผู้ใช้บริการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้าน อธิบดี ขร.ยันจะเร่งคลอดสายแรก ขอนแก่น-หนองคาย เชื่อมขนส่งเพื่อนบ้านลาว-จีน สั่งเพิ่มสร้างศูนย์ขนส่งสินค้าและด่านศุลกากร เล็งเสนอ ครม.ภายในปีนี้ ประมูลปี 2564 ขณะที่ ร.ฟ.ท.ขยับออกสำรวจเพื่อเวนคืนที่ดินเนทางคู่สายใหม่ แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดลำดับความสำคัญโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภายหลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอโครงการลงทุนไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สศช.ได้มีคำถามตีกลับเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ รวมไปถึงขอให้จัดลำดับความสำคัญของการลงทุนให้สอดคล้องกับกรอบงบประมาณลงทุนของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมครั้งนี้ได้สั่งการให้ ขร.นำโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งมีการศึกษารวม 7 เส้นทาง กลับมาทบทวน พิจารณารายละเอียดก่อสร้างโครงการ วงเงินลงทุน ประมาณการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ปริมาณขนส่งสินค้า เพื่อให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ภายหลังเกิดโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อการขนส่งสินค้าและการเดินทางปรับเปลี่ยนไป เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มศึกษาได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
“ตอนนี้เราต้องนำโครงการทางคู่เฟส 2 มาทบทวนใหม่ ว่ามีความจำเป็นลงทุน หรือมีความสำคัญเร่งด่วนอย่างไร เพื่อให้การลงทุนนั้นคุ้มค่าสอดคล้องไปกับเศรษฐกิจของประเทศที่มีเพดานหนี้สาธารณะ ดังนั้น ต้องจัดสรรการลงทุน คัดสรรโครงการที่จำเป็น เมื่อทบทวนเสร็จ ก็จะจัดลำดับการลงทุนกลับมาเสนอที่ประชุม และกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง”
นายสรพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ขณะนี้โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทางที่มีความจำเป็นในการพัฒนาเร่งด่วน เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ และต้องเร่งรัดเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คือเส้นทางขอนแก่น – หนองคาย เพราะจะเชื่อมต่อกับรถไฟของจีน ที่เชื่อมต่อมาทางลาว เตรียมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2564
อย่างไรก็ดี รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ทำการศึกษาออกแบบ และผ่านการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งการศึกษาโครงการในเบื้องต้นพบว่า มีความคุ้มค่าทางการลงทุน เนื่องจากมีการประมาณการณ์ปริมาณขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2580 อยู่ที่ 12 ล้านตันต่อปี อีกทั้งยังมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 19%
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท.ศึกษานำเอาโครงการสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot : ICD) มาบรรจุไว้ภายใต้โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น – หนองคาย เพิ่มเติม จากเดิมที่มีการศึกษาสร้างเฉพาะย่านกองเก็บสินค้า (Container Yard: CY) เพื่อให้โครงการรถไฟทางคู่สายนี้สนับสนุนต่อการขนส่งสินค้าและมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งอย่างด่านศุลกากร
ด้านการ ร.ฟ.ท. มีรายงานข่าว เปิดเผยว่า บอร์ดรถไฟไฟเขียวงบ 168 ล้าน ศึกษารายละเอียดเวนคืน EIA ก่อสร้างทางคู่สายใหม่ “แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์” ระยะทาง 256 กม. ลงทุน 9.6 หมื่นล้าน เชื่อม E-W Corridor หนุนการค้า ท่องเที่ยว
โดย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 มีมติเห็นชอบจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด (Detail Design) โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงแม่สอด – ตาก – กำแพงพชรเพชร – นครสวรรค์ ระยะทาง 256 กม. วงเงินลงทุน 96,000 ล้านบาท
โดยว่าจ้าง บริษัท เทสโก้ จำกัด ซึ่งจะมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บริษัท ดีไซน์คอนเซ็ป จำกัด และบริษัท ดอร์ช คอนซัลท์ เอเซีย จำกัด ร่วมอยู่ด้วย วงเงิน 168 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญา 360 วัน เนื้องานจะศึกษาแนวเส้นทาง เขตเวนคืน จัดทำรายละเอียดโครงการ และการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการลงนามในสัญญาจ้างต่อไป คาดว่าหากสามารถดำเนินโครงการได้จะถือเป็นเส้นทางรถไฟเส้นแรกที่เชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ (East – West Corridor) ส่วนอีกเส้นทางต่อเนื่องช่วงนครสวรรค์ – บ้านไผ่ ระยะทาง 291 กม. อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ