กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมจัดงาน “สร้างเครือข่ายสินค้าไทย ขยายการส่งออกด้วยเอฟทีเอ” เป็นปีที่ 2 ตอกย้ำความสำเร็จของโครงการที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมสัมมนาสร้างความรู้เรื่องการใช้ FTA เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้า การออกบู้ธจำหน่ายสินค้าคุณภาพพร้อมส่งออกจากเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ 40 ราย และการเปิดเวทีเจรจาสร้างเครือข่ายธุรกิจ ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2563 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาฯจัดงาน “สร้างเครือข่ายสินค้าไทย ขยายการส่งออกด้วยเอฟทีเอ” หรือ FTA Fair ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 5 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 7 วัน ณ ลาน Work & Play ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9
โดยภายในงานจะมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น การสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ขยายตลาดสู่ต่างประเทศ. การออกบู้ธจำหน่ายสินค้าคุณภาพของเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการจากจังหวัดต่างๆ รวมกว่า 40 ราย. การเจรจาสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจ. ตลอดจนการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี เป็นต้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของงานสัมมนา จะจัดขึ้นบนเวทีใหญ่ภายในงาน โดยมีหัวข้อการสัมมนาในแต่ละวัน คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน หัวข้อ “โอกาสสินค้าชาและกาแฟ ส่งออกด้วยเอฟทีเอ” วันที่ 2 พฤศจิกายน หัวข้อ “เทคนิคการใช้ GI เพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออก” วันที่ 3 พฤศจิกายน หัวข้อ “แนะนำโครงการสร้างเครือข่ายสินค้าไทย ขยายตลาดส่งด้วยเอฟทีเอ” วันที่ 4 พฤศจิกายน หัวข้อ “ขายอย่างไรให้สินค้าเข้าตลาดจีน” และวันที่ 5 พฤศจิกายน หัวข้อ “ช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเพื่อส่งออกสินค้าเกษตร” โดยกรมฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย.และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ เป็นต้น ร่วมเป็นวิทยากร
นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับการจำหน่ายสินค้า กรมฯ ได้คัดสรรเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการจากจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย ที่เคยเข้าร่วมโครงการของกรมเจรจาฯ มาร่วมออกบู้ธ 40 ราย เช่น ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านข่อยสูงจากอุตรดิตถ์ ผ้าฝ้ายทอลายน้ำไหลบ้านหล่ายทุ่งจากน่าน ชาฉุยฟงจากเชียงราย กาแฟฮิลล์คอฟฟ์จากเชียงใหม่ กล้วยอบเนยพิมพรจากสุโขทัย กระเป๋ากระจูดวรรณีจากพัทลุง เครื่องประดับอัญมณีเทวิกาจากจันทบุรี เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น มีการวิจัยพัฒนานวัตกรรม ต่อยอดผลิตภัณฑ์ ถือเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าไทยที่พร้อมรุกตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังจัดพื้นที่สำหรับการเจรจาสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมทั้ง ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแสดงแฟชั่นผ้าไทยและกระเป๋า สาธิตการชงชาและกาแฟ สาธิตการประกอบอาหาร การเพ้นท์สีกระเป๋า การทำ Aroma Mist กิจกรรมนาทีทองลดราคา และการร่วมสนุกตอบคำถามพร้อมรับของรางวัลมากมาย