เอไอเอส ครบรอบ 30 ปี เตรียมงบลงทุน 35,000 ล้านบาท เปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ รองรับการให้บริการให้กับผู้ใช้บริการคนไทย และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกภาค
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวในโอกาสว่า เอไอเอส ครบรอบ 30 ปี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2563 ว่า จะใช้ก้าวย่างสำคัญนี้ เปิดให้บริการ 5จี เต็มรูปแบบ หลังจากเปิดให้บริการ 5จี เชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2563 พร้อมเปิดตัวแพ็กเกจเอไอเอส 5จี แม็กซ์ สปีด (AIS 5G MAX SPEED) อย่างเป็นทางการครั้งแรกของไทย ด้วยความเร็วอินเทอร์เน็ตถึง 1 Gbps สูงกว่า 4จี ที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ต 300 Mbps ค่าบริการเริ่มต้น 699-1,999 บาท พร้อมแพ็กเกจเสริม เอไอเอส 5จี ค่าบริการรายเดือน 199 บาท เล่นเน็ตเต็มสปีด 5จี/4จี/3จี จำนวน 5GB พร้อมรับสิทธิ์ใช้งานแอพพลิเคชัน เอไอเอส เออาร์ และเอไอเอส วีอาร์ ฟรี
นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 5จี ในไทยอยู่ที่ประมาณ 150,000 ราย เอไอเอส มีส่วนแบ่งการตลาด ประมาณ 50% หรือคิดเป็น 60,000-70,000 ราย และคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 ผู้ใช้บริการเอไอเอส 5จี จะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ราย จากการเปิดตัวแพ็กเกจ เอไอเอส 5จี แม็กซ์ สปีด ดังกล่าว ขณะที่ คาดว่า เดือน ต.ค.2563 จะมีโทรศัพท์มือถือ 5จี รุ่นใหม่เปิดตัวอีกหลายแบรนด์ และมีรุ่นที่มีราคาต่ำกว่า 10,000 บาท ดังนั้นสิ้นปี 2563 จะมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5จี กว่า 30 รุ่น จากปัจจุบันมี 12 รุ่น และปี 2564 จะเปิดตัวเพิ่มอีก 40 รุ่น หนุนการใช้บริการ 5จี ในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย
“30ปี ที่เอไอเอสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสาร ตั้งแต่ยุค 1จี จนถึง 5จี และทำให้อุตสาหกรรมสื่อสารภาพรวมขยายตัวถึงกว่า 90 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้ ยังรวมถึงการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สนับสนุนให้เกิดรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ การจ้างงาน สร้างให้เกิดการเติบโตของประเทศ ที่มีขีดความสามารถและแข่งขันได้อย่างสมศักดิ์ศรี”
สำหรับงบลงทุนรวมในปี 2563 นายสมชัย เปิดเผยว่า วางไว้ที่ 35,000 ล้านบาท สำหรับขยายโครงข่าย 4จี 5จี และธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยการขยายโครงข่าย 5จี ของบริษัท ปัจจุบันขยายไปครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว ด้วยสถานีฐาน 4,700 แห่ง คิดเป็นครอบคลุม 16% ของประชากรพื้นที่ทั่วประเทศ และเร่งขยายในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันครอบคุลม 60% ของประชากรพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งขยายในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปัจจุบันครอบคุลม 90% ของพื้นที่ดังกล่าว จากการลงทุนต่อเนื่องตลอดเวลา 30 ปี กว่า 1.1 ล้านล้านบาท
ขณะที่ เอไอเอส ได้ส่งมอบเงินให้ภาครัฐเพื่อสร้างประโยชน์ให้ประเทศในรอบ 30 ปี เป็นมูลค่ารวมกว่า 915,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนแบ่งรายได้ 292,000 ล้านบาท ส่งมอบทรัพย์สินตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน 202,000 ล้านบาท ภาษีเงินได้ 171,000 ล้านบาท จ่ายค่าคลื่นความถี่ 203,000 ล้านบาท ค่าเลขหมายและใบอนุญาต 47,000 ล้านบาท และได้มีการจ้างพนักงานมาทำงานร่วมกับบริษัทตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันกว่า 50,000 คน
อีกความมุ่งมั่นที่สำคัญของเอไอเอส คือ การสร้างโอกาสและเสริมขีดความสามารถให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่องผ่านเทคโนโลยี 5จี เช่น เอไอเอส ร่วมกับ เอ็นทีที โดโคโม นำ 5จี ผสานกับเออาร์ ส่งสัญญาณให้คำปรึกษาการบริหารจัดการโรงงานข้ามประเทศ ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทั้งร่วมกับ บอช (Bosch) ทดสอบการนำเทคโนโลยี 5จี ไพรเวท เน็ตเวิร์คในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์น ซีบอร์ด ทั้งยังเตรียมเปิดตัว เอไอเอส 5จี สมาร์ท มิลเลอร์ ด้วยเทคโนโลยี เออาร์ แมปปิง ผนึกกำลังบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด ติดตั้งเพื่อให้คนไทยทดลองเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงเปิดตัวเอไอเอส 5จี เวอร์ช่วล มอลล์ ผนึกกำลังพันธมิตรอย่าง วัน สยาม เดสติเนชั่นชอปปิงระดับโลก บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ ทีซีดีซี นำสินค้าและบริการมามอบประสบการณ์ชอปปิงบนโลกเสมือนให้คนไทย
สำหรับภาพรวมปีนี้ มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เดือน เม.ย.-พ.ค.2563 มีการปิดห้าง แม้มีการใช้งานมากขึ้น แต่รายได้โรมมิ่ง ซิมนักท่องเที่ยว หายไป และกำลังซื้อหายไป แต่เริ่มกลับมาปกติตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 ทำให้เริ่มเห็นผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือกลับมาทำการตลาดกันบ้างแล้ว
“ก้าวต่อไปของเอไอเอส ในขวบปีที่ 31 เรามุ่งหวังที่จะพลิกโฉมองค์กรสู่การเป็น Innovation Organization อย่างเต็มตัว ที่พร้อมสร้างสรรค์งานบริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์กับความต้องการขององค์กรและลูกค้าทุกเจเนอเรชัน พร้อมทั้งใช้ขีดความสามารถ เทคโนโลยี ร่วมยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยต่อไป” นายสมชัย กล่าวในที่สุด