สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงผลการประชุม Annual PDMO Market Dialogue ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดตราสารหนี้ ความต้องการลงทุนของนักลงทุน และแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยในอนาคต เพื่อประกอบ การพิจารณาจัดทำแผนการระดมทุนของรัฐบาลให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะตลาด โดยมีผู้ร่วมตลาดให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) ผู้ค้าหลักของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD) และนักลงทุนสถาบันกว่า 150 ราย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. แผนการระดมทุนและแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
1.1 ประมาณการความต้องการระดมทุนในประเทศของรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงินรวม
957,722 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.1.1 การกู้เงินใหม่ในปี งปม. 2560 (รวมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน)
(ก) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 390,000 ลบ.
(ข) การกู้เงินเพื่อนำมาให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ 50,613 ลบ.
1.1.2 การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิม (Rollover)
(ก) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.บ. หนี้สาธารณะ (ขาดดุลฯ) 188,999 ลบ.
(ข) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. FIDF 313,119 ลบ.
(ค) การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่กระทรวงการคลังให้กู้ต่อ 14,943 ลบ.
1.2 แผนการระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
1.2.1 การออกพันธบัตร Benchmark
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สบน. วางแผนที่จะระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้ในการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Benchmark Bond)เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี (LB226A) 10 ปี (LB26DA) 15 ปี (LB316A) 20 ปี (LB366A) 30 ปี (LB466A) และ 50 ปี (LB666A) ทำให้มีปริมาณวงเงินพันธบัตรรัฐบาล (Bond Supply) วงเงินรวม 550,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของประมาณการความต้องการระดมทุน โดย สบน. ได้มุ่งเน้นการออกBenchmark Bond ทุกช่วงอายุอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับพันธบัตรรัฐบาล และสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) ที่มีประสิทธิภาพให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างแท้จริง และตอบสนองความต้องการของนักลงทุนทุกกลุ่มอย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ พันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี ยังคงให้เป็นรุ่น Exclusivity และมี Greenshoe Option
โดยกระทรวงการคลังได้ให้สิทธิเฉพาะแก่ MOF Outright PD ที่สามารถเข้าร่วมการประมูลพันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี รวมทั้งให้สิทธิในการซื้อพันธบัตร Benchmarkดังกล่าวเพิ่มเติมในอัตราถัวเฉลี่ยรับ (Average Accepted Yield: AAY) เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 20 ของพันธบัตรที่ได้รับจัดสรร โดยให้ใช้สิทธิดังกล่าวระหว่างเวลา 11.00 – 11.30 น. ของวันประมูล
1.2.2 การออกตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill)
สบน. มีแผนการออก T-Bill รุ่นอายุ 28 วัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยรักษาระดับเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ โดย สบน. จะออกตั๋วเงินคลังรุ่นอายุ 28 วัน ทุกสัปดาห์ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และจะมีการประกาศวงเงินการออกเป็นรายเดือน
1.2.3 การออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond)
สบน. มีแผนที่จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งลงทุนที่มีคุณภาพ และส่งเสริมภาคการออมให้กับประชาชน อีกทั้ง เพื่อเป็นการผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการระดมทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 2 ครั้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยจะประกาศระยะเวลา เงื่อนไข อายุ และอัตราดอกเบี้ยให้ทราบต่อไป
1.3 แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
สบน. ได้ทำการศึกษาและพัฒนากลยุทธ์ต่างๆ ในการส่งเสริมภาคการระดมทุนของรัฐบาลให้มีความยืดหยุ่น สอดรับกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนและสภาวะตลาดที่มีความผันผวนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการซื้อขายในตลาดรองและเพิ่มสภาพคล่องให้กับพันธบัตร ซึ่งจะเป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในระยะยาว โดย สบน. มีแผนจะดำเนินงาน ดังนี้
1.3.1 การเพิ่มสภาพคล่องให้กับพันธบัตร Benchmark ด้วยการเพิ่มวงเงิน และลดความถี่ในการประมูล
โดยการประมูลพันธบัตร Benchmark ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สบน. จะทำการเพิ่มวงเงินในการประมูล และลดความถี่ในการประมูลแต่ละครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มยอดหนี้คงค้างของพันธบัตรให้สูงขึ้นคราวเดียว และสร้างสภาพคล่องในตลาดรองให้สูงขึ้นระหว่างช่วงที่ไม่มีการประมูล โดยมีรายละเอียดของวงเงินและความถี่ในการประมูลดังนี้
1.3.2 แนวทางการเพิ่มความคล่องตัวในการระดมทุนและตอบสนองความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยธุรกรรม Overallotment และธุรกรรม Mini Auction
จากความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ที่ผ่านมา ทั้งจากความต้องการลงทุนของนักลงทุนที่สูงขึ้นและการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศต่างๆ สบน. จึงได้พัฒนาธุรกรรม Overallotment และ Mini Auction เพื่อเพิ่มความขีดความสามารถ และสร้างความยืดหยุ่นในการระดมทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับความต้องการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในสภาวะต่างๆ ได้ อีกทั้ง ธุรกรรมดังกล่าวยังสามารถลดความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล(Government Bond Yield Curve) โดยการดูดซับความต้องการลงทุนส่วนเกิน (Excess Demand) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง สบน. จะประกาศเงื่อนไข และวิธีการให้ทราบในภายหลัง
1.3.3 ธุรกรรมแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากพันธบัตร (Bond Stripping)
สบน. ได้วางแผนการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนด้วยธุรกรรม Bond Stripping โดยการแยกเงินต้นและดอกเบี้ยออกจากพันธบัตร ซึ่งจะทำให้เกิดพันธบัตรแบบไม่จ่ายดอกเบี้ย (Zero-coupon Bond) ตามจำนวนกระแสเงิน (Cash-Flow) ที่จะเกิดในพันธบัตรรุ่นตามช่วงอายุนั้นๆ โดยนักลงทุนสามารถทำการซื้อขาย Zero-coupon Bond รุ่นนั้นๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดรอง อีกทั้ง ยังสามารถสร้าง Zero-coupon Bond Yield Curve ให้มีอายุยาวขึ้น เพื่อส่งเสริมการคำนวณราคาตราสารหนี้ (Bond Valuation) ให้มีความแม่นยำมากขึ้น
2. แผนการลงทุนและความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
สบน. แถลงความคืบหน้าของการดำเนินในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1) โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มดำเนินการก่อนปี 2558 (on-going) จำนวน 15 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 297,150.63 ล้านบาท ผลการเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 20,131.81 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 41.31 ของแผนการเบิกจ่ายปี 2559)
2) โครงการตามแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน (Action plan) จำนวน 20 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,778.80 ล้านบาท จำนวน 20 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ ผลการเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 9,499.77 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 28.38 ของแผนการเบิกจ่ายปี 2559) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนประกวดราคา 7 โครงการ และอยู่ระหว่างเสนอ ครม. อนุมัติ 8 โครงการ