นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งในช่วงแรกทุกฝ่ายมองเห็นปัญหารุนแรง และคาดว่าจะจบเร็ว จึงใช้มาตรการแบบปูพรมเหมาเข่ง แต่ขณะนี้ชัดเจนว่าปัญหารุนแรงและยาวนาน ซึ่งธปท.ประเมินว่ากว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จะต้องใช้เวลาประมาณ 2ปี
ปัญหาครั้งนี้หนักและนาน ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาก็ต้องปรับเปลี่ยนและต้องตรงจุดมากขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้เมื่อ22 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็คือให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งต้องมีเครื่องมืออื่นๆมารองรับเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ มีแนวทางมากกว่าการยืดเวลาการชำระหนี้
ทั้งนี้จะต้องมีการบูรณาการความช่วยเหลือหรือมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะดูแลหรือพยุงให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอยู่รอด โดยธปท.มีการหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น ซึ่งจะออกมาเป็นชุดมาตรการโดยจะทยอยออกมาภายในปลายปี 2563
นายเศรษฐพุฒิ ยอมรับถึง ปัญหาพ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5แสนล้านบาทของธปท. ว่า จนถึงขณะนี้เพิ่งปล่อยสินเชื่อออกไปได้ประมาณ 1.2แสนล้านเท่านั้น เนื่องจากข้อกำหนดหรือเงื่อนไขบางอย่างไม่เอื้อที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มที่ได้รับผลกระทบก็เข้าไปถึงซอฟต์โลน อย่างไรก็ตามการที่จะแก้กฎหมายซอฟต์โลนก็เป็นเรื่องไม่ง่ายและต้องใช้เวลานาน ดังนั้นขณะนี้ธปท.ก็อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางอื่นๆที่จะทำได้ง่ายและเร็วกว่า เช่น อาจออกพ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ที่ปรับเงื่อนไขให้ตอบโจทย์มากขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของการตั้งWare Housing เพื่อเป็นโกดังเก็บหนี้ นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า เรื่องWare Housing เป็นเครื่องมือที่แบงก์ชาติกำลังศึกษา ซึ่งทางสถาบันการเงินก็ต้องการให้ธปท.สนับสนุนในบางเรื่องเพื่อให้การดำเนินการตั้งไม่เป็นภาระของธนาคารพาณิชย์และลูกหนี้ เช่นได้มีการหารือกับทางกรมสรรพากร เรื่องการขอยกเว้นภาษีในการตีโอนชำระหนี้ รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแก้ปัญหาต่างๆในอนาคต