นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 4/2563 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการอวกาศ พ.ศ. .... และเห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยเร็วต่อไป
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า ควบคู่ไปกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เพื่อให้สู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประเทศ อีกประเด็นสำคัญคือ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต เพราะดาวเทียมใหม่ๆ ที่จะขึ้นสู่วงโคจรภายหลังมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ต้องไม่มีปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับสัญญาสัมปทานดาวเทียมก่อนหน้า
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจาก ร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ พ.ศ. .... ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.ก่อให้เกิดนโยบายและแผนการบริหารจัดการด้านกิจการอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม 2.เป็นการยกระดับกฎหมายเพื่อให้เกิดการกำกับ และส่งเสริมกิจการอวกาศทั้งภาครัฐและเอกชน 3.ทำให้มีกลไกสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านอวกาศ และ 4.มีกลไกการขับเคลื่อนนโยบายอวกาศ 2 รูปแบบ ได้แก่ (1)คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายกิจการอวกาศตามขอบเขตของพระราชบัญญัติ และ (2) สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการให้กับคณะกรรมการฯ และกำกับการดำเนินงานตามขอบเขตของนโยบาย
นายพุทธิพงษ์ ระบุอีกว่า ตนยังได้รายงานต่อที่ประชุม ฃถึงความคืบหน้าของการควบรวมกิจการ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม โดยตั้งเป้าหมายว่า กระบวนการควบรวมจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พร้อมรับข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี ที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรของทั้งสององค์กรว่า การควบรวมดังกล่าวจะไม่ทำให้เสียประโยชน์
นอกจากนี้ ยังได้รายงานต่อที่ประชุมฯ เพื่อรับทราบการดำเนินงานที่สำคัญภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561– 2580) ในด้านต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนากำลังคนดิจิทัล ที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle) ในมิติต่างๆรวมถึงการส่งเสริมการใช้งานโดรน
โดยที่ผ่านมา ดีอีเอสและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ให้ทุนแก่เกษตรกร ในการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร โดยดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่แล้ว