นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ซึ่งปล่อยกู้ออมสิน ในงวดที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ว่า ตอนนี้ธนาคารออมสิน อยู่ระหว่างการปรับกฎเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้อนุมัติได้ง่ายขึ้น หลังพบว่า มีลูกค้าจำนวนหนึ่งขอกู้ไม่ผ่าน เช่น อาจจะมีหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก หรือเงินเดือนน้อย หรือติดเครดิตบูโร เป็นต้น แต่ถึงอย่างไร กฎใหม่ยังคงพิจารณาประกอบเครดิตบูโรอยู่
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ปรับปรุงมาจากสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายผู้มีรายได้ประจำ ให้มีความครอบคลุมประชาชนผู้ประกอบอาชีพทุกกลุ่มมากขึ้น ผ่านการจัดสรรวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินเดิมที่เหลืออยู่ 1.8 ล้านบาท
ณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ธนาคารก็ได้เปิดลงทะเบียนขอสินเชื่อไปแล้ว แต่มีคนขอสินเชื่อเต็มวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ทางธนาคารจึงชะลอเปิดลงทะเบียน เพื่อตรวจคุณสมบัติของคนขอสินเชื่อ แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า มีลูกค้าจำนวนหนึ่งไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้ธนาคารมีวงเงินเหลือ จึงเปิดลงทะเบียนผ่านแอปฯ MyMo อีกครั้งเมื่อวานนี้
สำหรับสินเชื่อเสริมพลังฐานราก สามารถกู้สูงสุดได้ไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) หรือ 175 บาทต่อเดือน โดยต้องผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่ต้องชำระเงินใน 6 เดือนแรก
คุณสมบัติผู้กู้ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก
- เป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารฯ หรือเคยเป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารฯ และปิดบัญชีมาแล้วไม่เกิน 3 ปี
- เป็นผู้ประกอบการรายย่อย/ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ผู้ประกอบอาชีพด้านบริการอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 70 ปี
- เป็นผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้างหน่วยงานเอกชน ที่มีเงินเดือนประจำ อายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 60 ปี
- เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
- เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่แน่นอนสามารถติดต่อได้
- ไม่เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของธนาคารออมสิน
- ไม่เป็นผู้ที่ได้รับรายได้ประจำจากหน่วยงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ ธนาคารจะพิจารณาคุณสมบัติโดยยึดข้อมูลลูกค้าที่เคยให้ไว้กับธนาคารออมสินสาขา
การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
ต้องไม่เป็นผู้กู้สินเชื่อภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบดังต่อไปนี้
- สินเชื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
- สินเชื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ (ระยะ 2)
- สินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- สินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ
- สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับผู้มีอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)
- สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับผู้มีรายได้ประจํา ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)
- สินเชื่อเสริมพลังฐานราก (สร้างงานรายเดี่ยว)