‘จุรินทร์’ ร่วมกับรัฐมนตรีการค้า 15 ประเทศ ลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ปิดฉากเจรจายาวนาน 8 ปี ชี้! เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมา เชื่อจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเร่งกระบวนการให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศความสำเร็จของการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ป หลังจากความพยายามทุ่มเทเกือบ 8 ปี โดยผู้นำอาร์เซ็ปได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน และสร้างความแข็งแรงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยความตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดที่เข้มข้น และทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ผู้นำอาร์เซ็ปได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งกระบวนการภายในสำหรับการให้สัตยาบันความตกลง เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็วและสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งความตกลงจะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลง ขณะเดียวกันสมาชิกอาร์เซ็ปยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจาตั้งแต่ปี 2555
สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป เป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดที่ริเริ่มโดยอาเซียน ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาค และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนของภูมิภาค ทั้งนี้ อาร์เซ็ปประกอบด้วย 20 บท เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และเรื่องใหม่ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
ความตกลงอาร์เซ็ปเป็นเอฟทีเอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2562 ความตกลงอาร์เซ็ปครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก