การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ต่อเนื่อง ไม่หวั่นสถานการณ์โควิด-19 กระทบการเดินทางระหว่างประเทศ ติดปีกการเจรจาธุรกิจผ่านระบบสื่อสารออนไลน์เสมือนจริง(Virtual Booth and Conference) เชื่อเข้าถึงนักลงทุนทุกกลุ่ม!
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการประชุมวิชาการยางพาราโลก ครั้งที่ 16 (16th Global Rubber Conference) ประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ "Unlocking Opportunities in A World of disruption”ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกและเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และนำไปสู่ความร่วมมือ การสร้างเครือข่าย การเจรจาการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
โดย กนอ.ในฐานะหน่วยงานด้านการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ได้ร่วมการประชุมฯเพื่อเป็นเวทีในการเจรจาธุรกิจและให้ข้อมูลด้านความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราระหว่างผู้ประกอบการด้านยางพาราทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังใช้โอกาสจากการประชุมในครั้งนี้ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ และคำนึงถึงการส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติให้เพิ่มมากขึ้น
“การประชุมครั้งนี้ กนอ.ได้มีการออกบูธนิทรรศการที่เกี่ยวกับความพร้อมของพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพาราให้กับนักลงทุนและผู้สนใจที่สามารถเข้าร่วมงานได้โดยตรง ขณะเดียวกันได้มีการจัดบูธสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจร่วมชมนิทรรศการของ กนอ.ผ่านทางระบบออนไลน์การสื่อสารทางไกลเสมือนจริง (Virtual Booth and Conference) ที่สามารถชมบูธนิทรรศการและงานสัมมนาได้ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการค้นหาข้อมูลทางการตลาดในรูปแบบการสื่อสารเชิงผ่านภาพ ที่ทำให้มีความเข้าใจสินค้ามากขึ้นรวมถึงสามารถมองเห็นภาพบรรยากาศโดยรอบได้ นอกจากนี้ ในการประชุมฯ กนอ.ได้มีการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Business Matching Online) กับนักลงทุนต่างชาติ อาทิ จีน และ มาเลเซีย ที่ได้แจ้งความจำนงขอเข้าเยี่ยมชมโครงการมาก่อนหน้านี้”นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าว
สำหรับการประชุมวิชาการยางพาราโลก ครั้งที่ 16 จัดขึ้นระหว่าง 12-13 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องแพลตทินัม ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน โดยการยางแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้น้ำยางธรรมชาติ จาก 25 ประเทศ และมีผู้ลงทะบียนร่วมงานออนไลน์มากกว่า 500 คน เข้าร่วมในการประชุม
“กนอ.มุ่งส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางพารากับหน่วยงานด้านยางพาราของทุกประเทศ เพื่อรับทราบความต้องการของนักลงทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าเมื่อต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพารา ขอให้นึกถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) เป็นลำดับแรก เนื่องจากมีความพร้อม 100% สามารถรองรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวปิดท้าย.