เพื่อการขับเคลื่อน SME เพื่อฝ่าวิกฤติ โควิด-19 ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้จัดทำ “โครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563” เพื่อส่งเสริม SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างรวดเร็ว โดยได้ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ดำเนินการวิเคราะห์เครื่องจักร พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่โรงงาน SME เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งตลอดมาททางกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงานด้านการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร และมีโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่ทำมาทุกปี และเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมติหลักการยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการจดทะเบียนเครื่องจักรถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่อการร่วมโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563 เพราะนั้นจะเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME ในการเสริมสภาพคล่องและลดต้นทุนไปพร้อม ๆ กันได้
ประกอบกับงบประมาณ 2564 กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรอ.ยังคงเดินหน้าโครงการโดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้ประกอบการ SME มากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายของรัฐบาล เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ประกอบการนำเครื่องจักรเข้ามาจดทะเบียนมากกว่า 1,300 ราย และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำเครื่องจักรเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่า 2,200 เครื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรมากขึ้น 10-15%
ผศ.ดร.ประพจน์ ขุนทอง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากขาดเงินทุนใช้จ่ายหมุนเวียนในกิจการและอาจไม่สามารถพยุงกิจการให้อยู่รอดได้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงเห็นเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้รับการวิเคราะห์เครื่องจักร พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้โรงงาน SME สามารถเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต และได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยอัตราพิเศษในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในการพิจารณาปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพ อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการประคับประคองระบบเศรษฐกิจของประเทศในด้านอุตสาหกรรมให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติของประเทศในครั้งนี้ไปให้ได้ ซึ่งต้องขอขอบคุณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้ดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะโครงการนี้ สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด พร้อมสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการโรงงานระดับ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงเครื่องจักรและระบบการผลิตให้ดีขึ้น เป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ศักยภาพการผลิตมีความเข้มแข็งที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
ด้านดร.ธิรินทร์ ณ ถลาง ผู้จัดการโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563 กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือสถานประกอบการหรือกิจการซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน หรือรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ที่มีความต้องการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือต้องการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว ซึ่ง มหาวิทยาลัยฯ โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดส่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปวิเคราะห์เครื่องจักรของแต่ละโรงงาน และให้คำปรึกษาแนะนำในรายละเอียดเชิงลึกที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของโครงการนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำรายงานผลการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ล้าสมัย ส่งต่อไปยัง 5 สถาบันการเงินที่มีความร่วมมือ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพื่อประสานกลับไปยังผู้ประกอบการ SME ในการอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงินได้โดยเร็วต่อไป
“นอกจากการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าดำเนินการ ณ สถานประกอบการ SME แล้ว ทางโครงการยังได้ให้ ผู้ประกอบการ SME สามารถจัดส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมเชิงลึก เรื่องการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ล้าสมัย เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปประยุกต์ใช้ในกิจการของตนได้อีกด้วย” ดร.ธิรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ทำยังไงได้อะไร?
ทำได้โดยต้องเป็นเครื่องจักรที่เข้าประเภทกิจการอุตสาหกรรม 107 ประเภทที่สามารถจดทะเบียนได้ และมีสถานที่ติดตั้งแน่นอน ให้ผู้ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องจักร มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ เข้าประเภทกิจการอุตสาหกรรม 107 ประเภทจดทะเบียนได้ และนำมายื่นขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร กับสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง หรือสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรประจำจังหวัด โดยจะได้กรรมสิทธิ์เป็น 3 ลักษณะ คือ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล และ กลุ่มบุคคล หากโรงงานบางแห่งเช่นโรงสีข้าวไม่มีเลขที่โรงงานออกทะเบียนเครื่องจักรโดยไม่มีบ้านเลขที่โรงงาน ก็สามารถออกให้ได้โดยใช้เอกสารของทางราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นโฉนดที่ดิน น/ส 3 เอกสารสิทธิ์ที่ดิน
แน่นอนว่าการจดทะเบียนเครื่องจักรนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม นำเครื่องจักรที่ได้จดทะเบียนแล้วไปจำนองได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีเงินทุนสำหรับดำเนินกิจการเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็น ประโยชน์แก่การพัฒนาประเทศด้าน อุตสาหกรรม จดทะเบียนเครื่องจักร เครื่องจักรใดเมื่อได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนอง ได้ตามมาตรา 703 (4) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 5) สอดคล้องกับ โครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563 ที่จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ อีกทั้งได้มีการมุ่งไปที่กลุ่มผู้ประกอบการ SME มากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันได้มีความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้จัดการเกี่ยวกับรายระเอียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ