นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 ซึ่งสร้างความกังวลและสับสนให้กับประชาชนหลายภาคส่วน กรุงเทพมหานคร จึงได้มอบหมายให้สำนักการโยธาทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ การเวนคืนที่ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 5 ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต(เก่า) ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 เป็นผลจากการประชุมหารือร่วมระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด ซึ่งได้มีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต (เก่า) ให้เป็นสถานีขนส่งกลาง (Inter–Model Terminal) โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และอีกส่วนจะจัดสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัด ซึ่งการพัฒนาใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวได้มีการออกแบบทางเป็นทางยกระดับเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งกับถนนวิภาวดีรังสิต และมอบหมายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการเวนคืนที่ดิน และก่อสร้างทางยกระดับฯ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการตามผลการประชุมดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงได้เสนอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินงานจัดกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยมีการเสนอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.2542 แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงได้ตราต่ออายุพระราชกฤษฎีกาต่อเนื่องมาอีก 2 ฉบับ สำหรับฉบับปัจจุบัน คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 ประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 มีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี
ทั้งนี้ ปัจจุบันการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างขั้นตอนลงสำรวจเพื่อทำการเวนคืนตามมติครม. โดยกรุงเทพมหานครมิได้เป็นเจ้าของโครงการหรือได้ประโยชน์การโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณหมอชิต (เก่า) เป็นแต่เพียงผู้ได้รับมอบหมายให้เสนอตราพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน และได้รับมอบหมายให้ก่อสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีขนส่งกับถนนวิภาวดีรังสิตเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนการทำงานต่อจากนี้กรุงเทพมหานครจะเร่งสำรวจแนวที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 120 วัน หลังจากพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ดีเมื่อโครงการดังกลาวแล้วเสร็จรถโดยสารจากสถานีขนส่งจะสามารถใช้ทางยกระดับดังกล่าวและเชื่อมต่อไปยังถ.วิภาวดีรัสิต และทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ได้โดยไม่ต้องเดินรถบนถนนพื้นราบ ซึ่งจะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรในบริเวณดังกล่าวได้ หากไม่มีทางยกระดับดังกล่าวในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากในพื้นที่รอบโครงการ
รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการก่อสร้างสายทางยกระดับเชื่อมระหว่าง สถานีขนส่งหมอชิตกับถนนวิภาวดีรังสิต เป็นโครงการที่จะดำเนินการเพื่อรองรับโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณหมอชิต (เดิม) ซึ่งในอนาคตจะเป็นจุดศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการบริหารจัดการจราจรรองรับระบบการคมนาคมดังกล่าว โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางยกระดับดังกล่าว จะได้รับค่าทดแทนความเสียหายจากการถูกเวนคืนตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ไว้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเป็นเพียงการปฏิบัติขั้นตอนและระเบียบราชการ เนื่องจากเป็นการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานในระดับที่สูงกว่า ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด อย่างต่อเนื่อง หากในอนาคตที่ประชุมร่วมเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่เหมาะสม ก็อาจมีมติให้เสนอ ครม.ชะลอหรือระงับโครงการซึ่งกรุงเทพมหานครก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป