กระทรวงพาณิชย์ จัดคณะนำทัพผู้ประกอบการแป้งมันสำปะหลังไทย เดินทางไปขยายตลาดแป้งมันสำปะหลังในประเทศอินเดีย มั่นใจเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้พยายามศึกษาหาข้อมูลและความเป็นไปได้ที่จะขยายตลาดแป้งมันสำปะหลังไทยสู่ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยพบว่าประเทศอินเดียซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศจีน มีความต้องการใช้แป้งมันสำปะหลังในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น สาคู บะหมี่สำเร็จรูป กระดาษ สิ่งทอ และเวชภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในอดีตประเทศอินเดียเคยจัดเก็บภาษีนำเข้าแป้งมันสำปะหลังในอัตราที่สูง ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกแป้งมันสำปะหลังไปยังประเทศอินเดียได้ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภายใต้ FTAอาเซียน-อินเดีย อัตราภาษีนำเข้าได้ปรับลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังแปรรูป ที่ปัจจุบันปรับลดลงเหลือ 6% และจะลดลงเหลือ 5% ในปี 2560
โดยในการเยือนครั้งนี้ ได้นำคณะผู้ประกอบการแป้งมันสำปะหลังไทย ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย บจก.ซี.พี. อินเตอร์เทรด และ บจก.เอส เอ็ม เอส คอร์ปอเรชั่น เดินทางไปกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 5 – 8 กันยายน 2559 โดยคณะได้พบปะหารือเพื่อหาช่องทางในการเปิดตลาดแป้งมันสำปะหลังกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกร ของอินเดีย และได้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการอินเดียที่สนใจจะนำเข้าแป้งมันสำปะหลังไทย ซี่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และทั้งสองฝ่ายแสดงความจำนงที่จะร่วมมือเพื่อพัฒนาการค้าแป้งมันสำปะหลังต่อไป
“เพื่อให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไทยจำเป็นต้องหาช่องทางขยายตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลัก”
การเดินทางไปประเทศอินเดียดังกล่าว ทำให้ภาครัฐและเอกชนไทย เข้าใจและเห็นภาพตลาดประเทศอินเดียมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการขยายการค้า และการลงทุนในประเทศอินเดีย ทั้งนี้ นอกจากประเทศอินเดียแล้ว กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดการที่จะนำคณะผู้ประกอบการมันสำปะหลังไทย เดินทางไปขยายตลาดมันสำปะหลังในประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 26 – 30 กันยายน 2559 โดยประเทศดังกล่าวถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่จะเติบโต และมีมูลค่าเพิ่มสูง