เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์
การมอบหมายให้หน่วยงานอื่นทำแทน ป.ป.ช.
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ตอนก่อนได้เล่าเรื่องคดีดังไปบ้างแล้ว ยังไม่เข้ากระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ก็ว่ากันต่อในเรื่องการทำงานของ ป.ป.ช.ให้ชัดเจนก่อนครับ
ตามที่ได้กล่าวตอนก่อนว่า ป.ป.ช.จะรับเรื่องพิจารณาอย่างไรนั้น เจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง เขาดูว่าจะรับไม่รับอย่างไร รับแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจดูเรื่องราวตั้งแต่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นใครตำแหน่งใด เรื่องที่กล่าวหาเป็นอย่างไร มีพยานหลักฐานอะไรบ้าง ถ้าเลื่อนลอยไม่มีมูลชี้ช่องพอไต่สวนได้ก็จะเสนอไม่รับพิจารณา แม้เรื่องร้องเรียนจะเป็นบัตรสนเท่ห์แต่ถ้าคำร้องชัดเจนเพียงพอ ป.ป.ช.ก็รับไว้พิจารณาได้เช่นกัน ไม่ได้ทิ้งลงตะกร้าเสียทีเดียว
เคยบอกก่อนหน้าแล้วว่า ถ้าเป็นเรื่องร้องเรียนข้าราชการทุจริตหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้ว หน่วยงานที่ทำหน้าที่ไต่สวนได้คือ ป.ป.ช.ที่เดียวเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากให้ ป.ป.ช.หน่วยเดียวทำหน้าที่ไต่สวนเรื่องทุจริตนับพันนับหมื่นเรื่องก็คงไม่มีวันเสร็จสิ้นได้รวดเร็ว กฎหมายจึงกำหนดให้ ป.ป.ช.สามารถมอบหมายหรือส่งเรื่องไปให้หน่วยอื่นทำแทนก็ได้ แล้วแต่ว่าหน่วยงานนั้นดำเนินการเรื่องใด
กล่าวคือถ้าเป็นเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงมาว่ากระทำผิด หรือเป็นเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดลักษณะร้ายแรง ก็จะทำความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อส่งเรื่องหรือมอบหมายเรื่องกล่าวหาให้หน่วยอื่นทำ หรือบางเรื่องที่ต้นสังกัดมีการร้องเรียนเรื่องทุจริต หัวหน้าส่วนราชการนั้นๆ อาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ไปแจ้งความร้องทุกข์ยังสถานีตำรวจท้องที่ต่างๆ ที่หน่วยงานตั้งอยู่ และเมื่อพนักงานสอบสวนรับแจ้งความร้องทุกข์และจะต้องรวบรวมหลักฐานเท่าที่มีอยู่ระหว่างนั้นภายใน 30 วัน หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนต่อ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนจะต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน นับแต่รับแจ้งความแล้ว
เมื่อเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวนก็ต้องนำมาพิจารณา ถ้าเห็นว่าคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นใดนั้นไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณามีมติส่งเรื่องกล่าวหาคืนพนักงานสอบสวน ทำนองเดียวกันเรื่องใดที่มีการร้องเรียนมายัง ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมิได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้อง ดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจก็ได้
ที่กล่าวมาหมายถึงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องร้องเรียนทุจริตของเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้น แต่อาจเป็นเรื่องอื่นๆ ที่อาจถูกดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินคดีอาญา เช่น กำนันยักยอกเงินชาวบ้าน ซึ่งไม่เกี่ยวกับหน้าที่โดยตรงของกำนัน ซึ่งเป็นผู้ปกครองท้องที่นั้น ป.ป.ช.ก็จะไม่รับ เพราะไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. แต่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปทำ เช่น ตำรวจหรือจังหวัดไปดำเนินคดีต่อไป
บางเรื่องที่เป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ทุจริตและอยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.ก็ตาม แต่คณะกรรมการเห็นว่าควรมอบหมายหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจป้องกันและปราบปรามการทุจริตรับไปทำแทน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติมอบหมายหน่วยงานอื่นภายใต้เงื่อนไข 2-3 ประการ คือ
(1) มอบหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ในกรณีที่เห็นว่า ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงมา หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งกรณีดังกล่าว จะต่างไปจากกฎหมายประกอบฯ เดิมที่กำหนดให้ ป.ป.ช.ไต่สวนตั้งแต่ผู้อำนวยการกองขึ้นไปต่ำกว่านั้นให้ ป.ป.ท.ทำ (2) มอบหมายพนักงานสอบสวน ในกรณีที่เห็นว่า ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มิใช่ความผิดร้ายแร (3) มอบหมายผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้องดำเนินการทางวินัยในกรณีที่เรื่องกล่าวหาที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่มอบให้หน่วยงานอื่นทำแทนข้างต้นนั้น ต้องไม่ใชเรื่องกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานของรัฐร่ำรวยผิดปกติอันเป็นหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.โดยแท้ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดระยะเวลาส่งเรื่องเหล่านี้ โดยให้เจ้าหน้าที่ส่งเรื่องภายใน 30 วัน นับแต่คณะกรรมการมีมติ อย่างไรก็ตาม ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในภายหลังว่า เรื่องกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ส่งคืนหรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่นไปทำตามข้างต้น กลับเป็นเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งสูงกว่าอำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่า หรือเป็นเรื่องกล่าวหาที่มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง หรือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง คณะกรรมการอาจเรียกเรื่องกล่าวหาและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเพื่อดำเนินการต่อไปเองก็ได้
ครับที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องการมอบหมายให้หน่วยงานอื่นทำแทน ป.ป.ช. ซึ่งต้องเป็นเรื่องไม่มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง แต่ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่มีลักษณะความผิดร้ายแรง แน่นอนว่า ป.ป.ช.ต้องรับทำเอง อย่างไรเป็นความผิดลักษณะร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งกำหนดแนวทางพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้ ซึ่งจะได้ว่ากันต่อตอนหน้าครับ