นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า วงเงินคำขอเบื้องต้นของ 8 ส่วนราชการ และ 5 รัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 6.29 แสนล้านบาท แบ่งเป็นส่วราชการ 5.05 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 1.24 แสนล้านบาท ทั้งนี้ หน่วยงานทางบก มีคำของบประมาณมากที่สุด ได้แก่ กรมทางหลวง 3.84 แสนล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 8.21 หมื่นล้านบาท ขณะที่ส่วนราชการอื่นๆ ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก 5.77 พันล้านบาท กรมเจ้าท่า 1.90 หมื่นล้านบาท กรมท่าอากาศยาน 1.22 หมื่ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง 264 ล้านบาท สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร 655 ล้านบาท และสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 1.06 พันล้านบาท
ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีคำของบประมาณ 6.61 หมื่นล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 4.76 หมื่นล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 1.27 พันล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 8.30 พันล้านบาท และสถาบันการบินพลเรือน 491 ล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินคำขอดังกล่าว อาจต้องมีการปรับเพิ่มอีกเล็กน้อย เนื่องจากพบว่า โครงการต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานเสนอมานั้น ยังมีบางเรื่องที่ตกหล่นอยู่
นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมท่าอากาศยานพิจารณาศักยภาพท่าอากาศยานทุกแห่งว่า มีพื้นที่ส่วนใดสามารถทำเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้บ้าง และจะดำเนินการในรูปแบบใด โดยให้จัดทำแผนให้ชัดเจน พร้อมกันนี้ได้ให้นโยบายว่า การสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่นั้น จะต้องบูรณาการกับระบบโลจิสติกส์ ซึ่งในอนาคตท่าอากาศยานต้องอยู่ใกล้และสอดคล้องกับโครงการแผนแม่บทมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ (MR-MAP) ขณะเดียวกันได้มอบให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณามาตรการสนับสนุนรถที่ใช้ไฟฟ้า (อีวี) เช่นเดียวกับ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบให้ไปพิจารณานำรถไฟแบบอีวีมาใช้ในไทย
อย่างไรก็ตาม กลางเดือน ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมจัดทำคำของบประมาณฯ อีกครั้ง ก่อนที่จะสรุปคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ภาพรวมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมให้สำนักงบประมาณพิจารณาในเดือน ม.ค. 2564 ต่อไป
ด้านนายสราวุธ ทรงวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงเตรียมเสนอโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1 พันล้านบาท จำนวน 23 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบกลางเดือน ธ.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการขยายถนนจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร อาทิ สายอินทร์บุรี-สากเหล็ก จ.พิจิตร วงเงิน 1.3 พันล้านบาท สายหล่มเก่า-เลย วงเงิน 2 พันล้านบาท และสานบ้านนายืน-บ้านหาดยาย จ.ชุมพร วงเงิน 1.4 พันบล้านบาท เป็นต้น