ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เศรษฐกิจชุมชน ย้อนกลับ
ออมสิน รับใน “หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของ UNEP FI
22 ธ.ค. 2563

ธนาคารออมสิน ย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ลงนามรับใน “หลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน หรือ UNEP Finance Initiative : UNEP FI ถือเป็นแบงก์รัฐแห่งแรก ที่ร่วมรับหลักการ เพื่อยกระดับการดำเนินการเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลของธนาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยวางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 ด้านหลัก คือ ลดความยากจน และ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะความเสียหายต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และปัญหาการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสในองค์กร ส่งผลให้โลกได้หันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพและคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว

ธนาคารออมสินตระหนักถึงการมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment Social and Governance : ESG) เพื่อที่จะก้าวสู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) จึงเข้าร่วมเป็นสมาชิก “สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน หรือ UNEP Finance Initiative (UNEP FI)” เพื่อเข้าร่วมรับใน “หลักการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ” หรือ “Principles for Responsible Banking (PRB)” โดยถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกของไทยที่เข้าร่วมสนับสนุนหลักการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 6 หลักการ คือ

1. การดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Alignment)

2. การกำหนดเป้าหมายที่เพิ่มผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบ (Impact & Target Setting)

3. การให้บริการลูกค้าด้วยความรับผิดชอบ (Clients & Customers)

4. การร่วมดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียด้วยความรับผิดชอบ (Stakeholders)

5. การมีธรรมาภิบาลและการปลูกฝังวัฒนธรรมการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (Governance & Culture)

6. เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ (Transparency & Accountability)

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินได้วางเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม หรือ Social Bank อย่างเต็มรูปแบบ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal หรือ SDGs) 2 ด้านหลัก คือ ด้านที่ 1ลดความยากจน และด้านที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สังคม ตามแนวคิด “Making POSITIVE Impact on Society” โดยจะดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนภายใต้ดอกเบี้ยที่เป็นธรรม สนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนอย่างครบวงจร และส่งเสริมการออมและพัฒนาทักษะทางการเงิน เพื่อที่จะยกระดับรายได้ของประชาชนและต่อยอดการเจริญเติบโตให้กับผู้ประกอบการรายย่อย อันเป็นภารกิจสำคัญที่ธนาคารฯ มีความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ที่ได้ดูแลกลุ่มลูกค้านี้อย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน

นายวิทัย กล่าวในตอนท้ายว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก UNEP FI และการยึดมั่นต่อ “หลักการเป็นธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (PRB)” ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำจุดยืนของธนาคารออมสินในการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ในฐานะสถาบันการเงินที่เติบโตเคียงข้างประชาชน และประเทศชาติ ที่สืบทอดปณิธานที่มีมาตลอดระยะเวลา 107 ปี โดยธนาคารจะปรับภารกิจและกระบวนการทุกด้านให้สอดคล้องกับการเป็นธนาคารเพื่อสังคม เพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น การร่วมลงทุนในธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมถึงการร่วมมือกับสมาคมธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย ในการส่งเสริมให้ธุรกิจเพื่อสังคมประสบความสำเร็จในการประกอบการ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหา พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การทำภารกิจเชิงพาณิชย์จะเป็นกิจการรองเพื่อสร้างกำไรที่จะนำมาสนับสนุนภารกิจด้านสังคม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ให้ความสำคัญด้านคุณภาพมากกว่าการเติบโตด้วยปริมาณ ซึ่งจะเป็นการสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ทำให้องค์กรเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน.

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...