นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า มติของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านกลไกประชารัฐ โดยมี 3 กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ในแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรได้มีการจัดทำโครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้เกษตรกร มีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและผลิตข้าวคุณภาพ โดยรัฐบาลจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตร รวมทั้งเพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างอำนาจต่อรอง โดยประสานผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตในราคานำตลาด และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ รวมถึงผลิตข้าวคุณภาพ โดยกำหนดเป้าหมาย 426 แปลง พื้นที่ประมาณ 800,000 ไร่ ซึ่ง ณ วันที่ 7กันยายน 2559 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่ 66 จังหวัด จำนวน 386 แปลง พื้นที่ 838,403.75 ไร่ เกษตรกร 57,775 ราย กระทรวงพาณิชย์ซึ่งรับผิดชอบด้านการตลาดได้วางแผนการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตให้เกษตรกรสามารถขายขาวได้ราคาดีและเพื่อให้ความมั่นใจก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด จึงประสานเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาแปลงใหญ่กับโรงสี หรือสหกรณ์ในพื้นที่ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือซื้อขายข้าวกันล่วงหน้าตั้งแต่ต้นฤดูการผลิต โดยให้ราคาสูงกว่า ราคาตลาดทั่วไปในราคานำตลาดประมาณตันละ 200 บาทขึ้นไปตามชนิดและคุณภาพข้าว รวมทั้งระบุเงื่อนไขรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร อีกทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะจูงใจให้เกษตรกรผลิตข้าวคุณภาพดีได้มาตรฐานตามที่กำหนด
ทั้งนี้ กำหนดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการซื้อขายผลผลิตข้าวนาแปลงใหญ่ระหว่างประธานกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่กับโรงสีหรือสหกรณ์ที่รับซื้อข้าวพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2559 เวลา 14.00 น. โดยส่วนกลางมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดเชิญประธานกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่และผู้แทนโรงสีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เชิญเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี อุดรธานี นครพนม ขอนแก่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ เชียงราย พะเยา อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และนครศรีธรรมราช มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีรัฐมนตรีทั้ง 3 กระทรวงเป็นสักขีพยาน สำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการให้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ณ พื้นที่แต่ละจังหวัด ในวันและเวลาเดียวกันกับส่วนกลาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสักขีพยาน
รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์กล่าวด้วยว่า มีความมั่นใจว่าการบริหารจัดการข้าวโดยใช้การตลาด นำการผลิต ด้วยการส่งเสริมระบบตลาดให้มีประสิทธิภาพเพื่อขยายช่องทางการค้าให้แก่เกษตรกร รวมทั้ง การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด จะส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลในการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งสร้างความมั่นคงและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน และจะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรอื่นต่อไปในอนาคต