นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry เป็นความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า และ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) โดยขณะนี้ทาง EA ต่อเรือแล้วเสร็จพร้อมให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 6 ลำ ต้นทุนการต่อเรืออยู่ที่ 40 ล้านบาท/ลำ โดย EA จะทยอยต่อให้ครบ 27 ลำให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 2564 นี้
และจะเปิดทดลองให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2563 – 14 ก.พ. 2564 หลังจากนั้น จะเก็บค่าโดยสาร 20 บาท/คนตลอดสาย เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งในช่วง 6 เดือนนี้ จะคำนวณต้นทุนและปรับปรุงเพื่อให้เป็นบริการเรือโดยสารเต็มรูปแบบอีกทีหนึ่ง
รูปแบบการให้บริการ วันจันทร์ – ศุกร์ จะให้บริการเป็นเรือโดยสารปกติวิ่งจากท่าเรือพระราม 5 – ท่าเรือสาทร ส่วนในวันเสาร์ – อาทิตย์ จะปรับเรือไฟฟ้าดังกล่าว เป็นเรือท่องเที่ยวแทน โดยจะแวะจอดท่าเรือกรมท่าเจ้า-สะพานพุทธ-วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร-ท่าราชินี-วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น
โดยรอบการให้บริการจะแบ่งเป็นวันละ 6 รอบ รอบเช้า 3 รอบ ได้แก่ 06.15/06.30/06.45 น และรอบเย็นอีก 3 รอบ ได้แก่ 16.00/16.30/16.45 น. โดยเรือทั้ง 6 จะประจำจุดที่ท่าเรือพระราม 5 จำนวน 3 ลำ และท่าเรือสาทรจำนวน 3 ลำ และจะปล่อยเรือพร้อมกัน ส่วนช่วงกลางวัน-บ่าย จะไม่มีเรือทดลอง เพราะเป็นช่วงที่ไม่มีผู้โดยสารมากนัก แต่หากเปิดจริงวันที่ 15 ก.พ. 2564 จะมีเรือไฟฟ้าให้บริการตลอดวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที/เที่ยว
และจากการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังปรับปรุงท่าเรือพระนั่งเกล้า ก็คาดว่าอาจจะพิจารณาขยายเส้นทางจากท่าเรือพระราม 5 เป็นท่าเรือพระนั่งเกล้าได้ในต้นปี 2564
นายวิทยากล่าวต่อว่า ส่วนการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ขณะนี้กำลังพัฒนาท่าเรือท่าช้าง ท่าเตียน ท่าเรือวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ท่าเรือราชินี ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือราชวงศ์ และท่าเรือกรมเจ้าท่า และในเร็ว ๆ นี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพัฒนาท่าเรือร่วมกัน 2 ท่า ประกอบด้วย ท่าเรือพระราม 7 และท่าเรือพระราม 5 โดย กฟผ. จะลงทุนให้ทั้งหมด
ส่วนการพัฒนาท่าเรือของกรมเจ้าท่า (จท.) หลังจากทยอยพัฒนาท่าเรือที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไปแล้ว จะคงเหลือท่าเรือขนาดเล็กอีกประมาณ 10 ท่าที่กรมจะพัฒนาต่อ โดยในปี 2564 จะมีแผนพัฒนาท่าเรือบางโพและท่าเรือเกียกกาย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565