ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้คาดการณ์ถึงสถานการณ์ออมในปี 2563 จะอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท หดตัว -8.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากสถิติในช่วงวิกฤติครั้งสำคัญที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอัตราการขยายตัวของการออมเบื้องต้นในประเทศมีทิศทางลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ อาทิ ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หดตัว -1.7% และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 หดตัว -2.9%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อการออมภาคครัวเรือน คือ 1.ความไม่มั่นคงกับรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบในภาคบริการและอุตสาหกรรม 2. ลูกจ้างมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น สะท้อนจากจำนวนสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราวและผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้น 3.หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง จากภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้สูงขึ้น ทำให้การบริโภคลดลง กระทบต่อการออม และ 4.ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงการออมเพื่อการลงทุน
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ว่า ควรมีมาตรการจากภาครัฐเพื่อลดผลกระทบที่ต่อเนื่องและมีความจำเป็นต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรง มีนโยบายส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน โดยเฉพาะการออมและการลงทุนให้กับเยาวชนในสถาบันการศึกษาที่มีรูปธรรม และส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักออมเพื่อใช้จ่ายในอนาคตทั้งในวัยชรา และรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การระบาดของโควิด-19