เมื่อเร็วๆ นี้นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์สมาชิกวุฒิสถา ได้ตั้งกระทู้ถามนายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามันด้วยปะการังรูปโดมทะเลโดยระบุว่าประเทศไทยมี 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล มีการใช้ทรัพยากรในทะเลและชายฝังทะเลอย่างมากมาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศของโลกทำให้ทรัพยากรและชายฝั่งของแต่ละจังหวัดได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและต่อเนื่องทุกปี
จากการศึกษางานวิจัยเชิงปฏิบัติเพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้มีการสำรวจข้อมูลทรัพยากรปะการังทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จากการศึกษาค้นคว้า ทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการและทำการทดลองเชิงประจักษ์ในพื้นที่จริง ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พะยอม รัตนมณี คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ พบว่า ปะการังโดมทะเล เป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมทั้ง “ด้านวิศวกรรม” และ “ด้านนิเวศทางทะเล” สอดคล้องกับจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลของไทย ซึ่งนอกจากช่วยฟื้นฟูทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ปะการังรูปโดมยังใช้เป็นแนวป้องกันคลื่น ป้องกันการทำลายระบบนิเวศจากเครื่องมือประมงทำลายล้างทั้งอวนลากและอวนรุนอีกด้วย
จึงขอตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าได้ดำเนินการอย่างไร เพื่อการป้องกันการลดผลกระทบและการปรับตัวเพื่อรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศ อีกทั้งอยากทราบว่าที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีแนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและการอนุรักษ์ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลอ่าวไทยและอันดามันอย่างไร นอกจากนี้ โครงการเพิ่มประประสิทธิภาพการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทะเลอ่าวไทยและอันดามัน และการป้องกันทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลนมีผลอย่างไร สามารถลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จริงหรือไม่
“ประเด็นสุดท้ายคือ จากการที่วางปะการังเทียมรูปโดมทะเลไปแล้วส่วนหนึ่ง มีผลกระทบอย่างไรทั้งเรื่องของการออกแบบรูปแบบและผลที่เกิดขึ้นนั้นมีความเหมาะสมกับพื้นที่ในการจัดวางหรือไม่ จึงต้องการทราบข้อสรุปของผลที่ได้รับในแต่ละพื้นที่ที่ปฏิบัติการจริง” นายสวัสดิ์กล่าว
ทางด้าน นายวราวุธศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยการกรธรรมชาติและส่งแวดล้อม ตอบกระทู้ความว่า การป้องกันผลกระทบเพื่อรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศ หลังจากที่มีการลงนามสนธิสัญญากรุงปารีส กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยความสมัครใจมาโดยตลอด ในปี 2561 สามารถลดปัญหานี้ลงได้ 15% จากที่ตั้งเป้าไว้ 7-20% และภายใน 10 ปี ข้างหน้า ก็จะลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 20%
ส่วนปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงฯได้วางแผนแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ แนวทางการปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติแนวทางการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และแนวทางการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง โดยควบคู่กับ 3 มาตรการ คือ มาตรการสีขาว การกำหนดพื้นที่ถอยร่น ห้ามก่อสร้างหรือกระทำกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงสภาพสัณฐานชายหาดและเนินทราย, มาตรการสีเขียว การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด และการปักเสาดักตะกอน เพื่อปลูกป่าชายเลน และ มาตรการสีเทา การสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด
ส่วนการฟื้นฟูป่าชายเลนในฝั่งทะเลอันดามัน มี 2 แนวทาง หนึ่งคือการลาดตระะเวรป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการตรวจเรือประมง ในปี 2563 ประมาณหนึ่งพันกว่าลำ สองคือการฟื้นฟูแนวปะการังและหญ้าทะเล ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 150 ไร่ ใน 15 จังหวัด ส่วนเรื่องการปลูกป่าชายเลนนั้น ในปีที่ผ่านมาเราทำให้ป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์ เพิ่มขึ้น 2 แสนไร่ และปัจจุบันมีป่าชายเลนที่สุมบูรณ์ 1.2 ล้านไร่ มีป่าชายเลนที่จะต้องฟื้นฟูอีก 1.4 ล้านไร่
ส่วนการใช้ปะการังเทียมรูปโดม จากการที่ได้ทดลองนำไปวางไว้ที่เกาะไม้ท่อน และเกาะราชาใหญ่ 1 พันกว่าโดม และในปี พ.ศ. 2563 และอีก 6 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 3,944 แท่ง ได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก มีปะการังมาเกาะและยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลมากมาย ดังนั้นในปี พ.ศ. 2564 จะมีการวางปะการังเทียมนี้อีก 4 จังหวัด รวม 3800 แท่ง เพราะนอกจากจะเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำแล้ว ยังเป็นตัวช่วยลดแรงคลื่นกัดเซาะชายฝั่งได้อีกด้วย” นายวราวุธศิลปอาชา กล่าวปิดท้าย