ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
บทเรียนเลือกตั้ง อบจ.? อนาคต-บทบาท สนง.กกต.ปี64 ใต้บังเหียน‘พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา’
07 ม.ค. 2564

ข้อเขียนดังกล่าวนี้ เป็นบทสัมภาษณ์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกกต. โดยสำนักข่าวอิสรา (www.isranews.org) ซึ่งอปท.นิวส์ เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดตามการเมืองและผู้อ่านทั่วๆ ไป ที่จะได้เข้าใจบทบาทการทำหน้าที่ของ กกต. ในปัจจจุบัน จึงขอนำข้อเขียนดังกล่าวมานำเสนอต่ออีกครั้งโดยมิได้ตัดต่อหรือดัดแปลงเนื้อหาแต่อย่างใด ซึ่งต้องขอขอบคุณ สำนักข่าวอิศรามา ณ ที่นี้ด้วย

..................................................

“เราไม่ได้โฟกัสใครเป็นหลัก มีหลายเรื่องจำหน่ายคดีไป แต่บางเรื่องเข้าข้อกฎหมายต้องดำเนินการ เหมือนกันทุกคน เพราะฉะนั้นทุกคน ไม่ว่าจะมีชื่อเสียง หรือไม่มีก็ตาม ต้องทำตามกฎหมายดีที่สุด ผมทำตามกฎหมายทุกอย่าง ผมไม่กล้าละเมิดกฎหมาย เพราะถ้าพลาด ทุกคน ยิ่งเป็นคนมีตำแหน่ง ต้องถูกดำเนินคดี”

................................................

ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา หนึ่งในองค์กรอิสระที่มีบทบาท และถูกพูดถึงมากที่สุดองค์กรหนึ่ง หนีไม่พ้นชื่อหน่วยงานอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สำนักงาน กกต. คือผู้กำกับดูแลในการเลือกตั้งนายก และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี (เลือกตั้ง อบจ.ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2555) หรือเป็นครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2563

ท้ายที่สุดการเลือกตั้งนายก และสมาชิกสภา อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และเริ่มมีการรับรองประกาศผลการเลือกตั้งมาแล้วอย่างน้อย 14 จังหวัด แบ่งเป็นรับรองผลเลือกตั้งนายก อบจ. 12 จังหวัด และเลือกตั้ง ส.อบจ. 14 จังหวัด รวมอย่างน้อย 376 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ม.ค. 2564)

แต่ยังมีเสียงอีกไม่น้อยวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสำนักงาน กกต. อยู่ ในเรื่องการสืบสวนและไต่สวนข้อเท็จจริงคดีความต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตั้งแต่เลือกตั้ง ส.ส. 24 มี.ค. 2562 จนถึงเลือกตั้ง อบจ. 20 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลผู้เป็น ‘หนังหน้าไฟ’ ในการตอบคำถามสื่อมวลชน และชี้แจงสังคมในกรณีต่าง ๆ หนีไม่พ้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. คนปัจจุบัน ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2561 หรือเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว

ความเคลื่อนไหวภายในสำนักงาน กกต. การกำกับดูแลเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งในปี 2563 ที่ผ่านมา และในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งจะเป็นอย่างไร ?

“การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ (20 ธ.ค. 2563) ไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อน (เลือกตั้ง ส.ส. 24 มี.ค. 2562) เพราะเรามีการถอดบทเรียน เรียนรู้ และพัฒนาเพื่อหาระบบที่อุดช่องว่างต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นได้” เป็นคำยืนยันจาก พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า “พอใจ” ภาพรวมการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีข้อแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา โดยสรุปบทเรียนออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ มีหน่วยเลือกตั้งที่ออกแบบไว้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยสำนักงาน กกต. เล็งเห็นความสำคัญ จึงร่วมมือและประสานกับกรมควบคุมโรคเพื่อออกแบบหน่วยเลือกตั้งใหม่ให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19

“ถ้าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะทราบและเห็นเลยว่า ที่หน่วยเลือกตั้งทุกแห่งทั่วประเทศ มีการล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง จึงทำให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่มั่นใจ และไปใช้สิทธิ แม้ว่าก่อนวันเลือกตั้งจะมีข่าวว่าโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้งก็ตาม (19 ธ.ค. 2563 ตรวจพบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่สมุทรสาคร)”

สอง บทเรียนจากการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 สำนักงาน กกต. ออกแบบระบบใหม่ในการจัดการเรื่องตรวจทุจริตในการเลือกตั้ง โดยใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นกลไกหลักตาม พ.ร.บ.กกต. และตามรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 2 หน่วยงานคือ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วออกตรวจ และร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ประสานไปยังกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้ข้อมูลเรื่องทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้ภาพรวมออกมาเรียบร้อยมากกว่าเดิม

“เรา (สำนักงาน กกต.ส่วนกลาง) สอบถามความเห็นจาก ผอ.กกต.ประจำจังหวัดหลายแห่งว่า ที่เปรียบเทียบระหว่างการเลือกตั้ง ส.ส. กับเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ โดยท่านเหล่านั้นรายงานว่า มีคามแตกต่างกัน และเป็นแนววิถีทางที่ดีกว่าเดิม โดยได้รับความร่วมมือดีจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร กระทรวงมหาดไทย รวมถึงภาคประชาชน ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาจมีบางกรณีหลุดมาบ้าง แต่ต้องไปดูในส่วนเรื่องร้องเรียนว่ามีเยอะขนาดไหน เพียงใด”

มาตรการของ กกต. ในการป้องปรามการทุจริตการเลือกตั้งครั้งนี้คือใช้กลไก ‘ผู้ตรวจการเลือกตั้ง’ ที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงเกษียณราชการแล้วมาเป็น โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็ว และกระทรวงมหาดไทย ที่สั่งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงกำนัน และผู้ใหญ่บ้านทุกแห่ง ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ หรือเรื่องร้องเรียนทุจริตการเลือกตั้ง ยอมรับว่าที่ผ่านมา กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ถือว่ามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ นี่จะเป็นมาตรการหนึ่งที่เชื่อว่าจะได้ผลหากมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคต และจะทำให้การทุจริตการเลือกตั้งลดน้อยลง

อย่างไรก็ดี เลขาธิการ กกต.ทิ้งท้ายคำตอบข้างต้นว่า แม้ภาพรวมเลือกตั้ง อบจ.จะออกมาดี แต่จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกลับน้อยลงหาเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา ?

“ก่อนอื่นต้องไปดูปัจจัยก่อนว่าเหตุใดคนจึงออกมาเลือกตั้งน้อยลง” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุ

ปัจจัยแรก การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการเลือกตั้งล่วงหน้า และมักมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นบ่อย หากเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. โดยลักษณะการเลือกตั้งท้องถิ่นคือ เมื่อพ้นการเลือกตั้งครั้งแรกไปแล้ว อาจมีผู้บริหารท้องถิ่นลาออกก่อนกำหนด ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และทำให้มีการเหลื่อมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งกัน

ปัจจัยที่สอง การเลือกตั้งท้องถิ่น กฎหมายดีไซน์มาไม่ให้เลือกตั้งล่วงหน้า เพราะต้องการให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เลือกบุคคลเข้าไปบริหารจัดการในท้องถิ่นจริง ๆ มีความใกล้ชิดประชาชน ไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่บุคคลที่ต่างประเทศก็เลือกได้ เป็นต้น

ปัจจัยพิเศษ สถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดอีกครั้งก่อนเลือกตั้ง อบจ. แค่ไม่กี่วัน เบื้องต้นไม่อยากสรุปว่าคนมาใช้สิทธิน้อยลงเป็นเพราะปัจจัยนี้หรือไม่ แต่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยก็เป็นไปได้ เช่น การเลือกตั้ง อบจ.สมุทรสาคร (ที่ถูกตรวจพบว่ามีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่) มีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 54% ถือว่าน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างไรก็ดี หลายจังหวัดมียอดผู้มาใช้สิทธิค่อนข้างเยอะ ตัวเลขแต่ละจังหวัดดึงกันไปดึงกันมา ทำให้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 62%

“ตัวผู้สมัครมีส่วนสำคัญด้วย โดยเฉพาะบางจังหวัดที่มีการแข่งขันเข้มข้น ยิ่งทำให้ประชาชนกระตือรือล้นออกมาใช้สิทธิกันมากขึ้น ต่างกันจังหวัดที่มีผู้สมัครน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องดูตัวเลขของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องดูเหตุผลด้วยว่าบางทีเขาอาจติดภารกิจจริงๆ”

ส่วนความพร้อมในปี 2564 จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับอื่น ๆ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบต.) และเทศบาลเกิดขึ้นเมื่อไหร่?

“สำนักงาน กกต. ในฐานะหน่วยงานที่มีอาชีพทางด้านนี้ (จัดเลือกตั้ง) ต้องพร้อมเต็มที่แน่นอน (หัวเราะ)” เป็นคำยืนยันจากเลขาธิการ กกต. ก่อนหันมาปรับพนักพิงเก้าอี้ พูดด้วยท่าทีจริงจังว่า เบื้องต้นต้องดูงบประมาณก่อนว่า จำเป็นต้องขอเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งกระทบกระเทือนเรื่องงบประมาณ แม้ระยะนี้จะฝืดเคืองก็ต้องขอ

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยหารือกับรัฐบาลนานมาแล้วว่า หากมีการจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ให้เว้นระยะห่างคราวละ 3 เดือนแล้วจัดเลือกตั้งประเภทอื่น ๆ ได้ แต่ขณะนี้มีสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ถ้ามีการล็อกดาวน์ จะเป็นปัญหาหรือไม่ ต้องวิเคราะห์ดูอีกที ประเด็นการหาเสียงของผู้สมัครก็สำคัญ จะทำได้หรือไม่ในสถานการณ์แบบนี้ ต้องเว้นระยะห่างผู้มารับชมการปราศรัยอย่างไร เป็นต้น

หมายความว่าปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทอื่นๆ คือเรื่องโควิด-19 และเรื่องงบประมาณใช่หรือไม่?

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยอมรับว่า ใช่ เพราะขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีขึ้นมา ผู้สมัครจะหาเสียงอย่างไร แต่ถ้าไม่รุนแรงมากต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่า ถ้าเกิดอยู่ในระดับนี้ทำได้หรือไม่ เพราะช่วงเลือกตั้ง อบจ. ยังมี

สถานการณ์โควิด-19 อยู่ อย่างไรก็ดี ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อประเมินสถานการณ์ แต่กระบวนการเตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือระเบียบต่างๆ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือจากกรณีการเลือกตั้งคือ บุคคลที่กระทำผิดในการเลือกตั้ง ตั้งแต่เลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน กกต. ดำเนินการเฉพาะคดีอาญาไปแล้วเท่าไหร่ ส่งตำรวจเพื่อดำเนินการต่อมากน้อยแค่ไหน?

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ครุ่นคิดเล็กน้อย ยอมรับว่า “ตัวเลขค่อนข้างเยอะ จำรายละเอียดไม่ได้จริง ๆ น่าจะประมาณ 20-30 เรื่อง” ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า นี่คือเรื่องที่ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ทั้งเรื่องคุณสมบัติ และเรื่องทุจริตการเลือกตั้ง บางเรื่องอาจไม่ต้องส่งศาลเพื่อวินิจฉัยใบเหลือง หรือใบแดง แต่การทำผิดอาญาคดีใหญ่ ๆ จำตัวเลขไม่ได้

“แต่อยากฝากไว้สักนิดหนึ่งว่า กระบวนการไต่สวน มีห้วงเวลา บางคนบอกว่า นี่ไงทำผิดกฎหมายอาญาชัดเจน ทำไม กกต. ไม่จัดการ อยากบอกว่าจัดการแล้ว แต่อย่าลืมกระบวนการยุติธรรม ต้องมีการสอบสวนพยาน หลักฐาน ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงด้วย ถึงจะสรุปข้อเท็จจริงได้ ก่อนจะส่งให้ที่ประชุม กกต.วินิจฉัย นี่คือกระบวนการยุติธรรมของเรา”

“บางคนมองว่าทำไมคดีนี้ช้าจัง เราต้องให้ความเป็นธรรมเขาด้วย เพราะโทษการกระทำผิดอาญา เป็นการก้าวล่วงสิทธิของคน กระบวนการพวกนี้มีขั้นตอนของมันอยู่ อยากชี้แจงให้เข้าใจเหมือนกัน บางทีเร่งรัดมากไปก็ผิดพลาด คนที่เราตัดสินไปอาจฟ้องเราได้ เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นเรื่องการให้ความเป็นธรรมคือเรื่องสำคัญ”

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยอมรับว่า ปัจจุบันตัวเขาเอง รวมถึงสำนักงาน กกต. และ กกต. ถูกฟ้องหลายคดี ทั้งที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลอาญา และศาลปกครอง เป็นต้น

“ผม และเจ้าหน้าที่ กกต. ต้องไปชี้แจงเรื่องพวกนี้เกือบทุกวัน ถามว่ารู้ได้ไง เพราะหน่วยงานที่เราโดนสอบส่งหนังสือแจ้งมาให้ไปชี้แจง นี่ไงเราถูกตรวจสอบตลอด เรามีอำนาจก็จริง แต่ทำได้ภายใต้กฎหมายให้ไว้”

เลขาธิการ กกต. บอกด้วยว่า การดำเนินการทุกคดีทำอย่าง ‘เท่าเทียม’ ไม่ได้ดูตัวบุคคล หรือชื่อเสียงของผู้ถูกกล่าวหา แต่ดูข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายทั้งหมด

“ถ้าเกิดมีการจับจ้องคนเดียว ไม่เป็นธรรมเหมือนกัน เราดูภาพรวมเป็นหลัก เราถือว่าเท่าเทียมกันหมด ทุกคนที่เข้ามาสู่การเมือง และถูกดำเนินคดีมีค่อนข้างเยอะ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่ถูกเราวินิจฉัยและแจ้งความ คนที่สมัครแล้วไม่ได้รับเลือกตั้งก็มี”

แต่ภาพจากสื่อที่ประชาชนอ่าน มักเห็นว่า กกต. ดำเนินคดีกับ ‘บางคน’ แต่อีกหลายคนไม่เห็นพูดถึง?

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ อธิบายว่า เรามองด้วยหลักความยุติธรรม มาตรฐานการวินิจฉัยคดีเหมือนกันหมด ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร สำนักงาน กกต. ดูข้อกฎหมายค่อนข้างละเอียด ก่อนเสนอเรื่องให้ที่ประชุม กกต.วินิจฉัย เมื่อเรื่องเป็นอย่างนี้ หลักฐานมีแค่นี้ แล้วอย่างไรต่อ

เราไม่ได้โฟกัสใครเป็นหลัก มีหลายเรื่องจำหน่ายคดีไป แต่บางเรื่องเข้าข้อกฎหมายต้องดำเนินการ เหมือนกันทุกคน เพราะฉะนั้นทุกคน ไม่ว่าจะมีชื่อเสียง หรือไม่มีก็ตาม ต้องทำตามกฎหมายดีที่สุด ผมทำตามกฎหมายทุกอย่าง ผมไม่กล้าละเมิดกฎหมาย เพราะถ้าพลาด ทุกคน ยิ่งเป็นคนมีตำแหน่ง ต้องถูกดำเนินคดี”

ท้ายที่สุด เลขาธิการ กกต. ประเมินการทำงานในรอบปี 2563 ว่า ในการเลือกตั้ง อบจ. ที่ผ่านมามีการถอดบทเรียนจากเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ทำให้สำนักงาน กกต. เริ่มเห็นแนวทางแล้วว่า มีโมเดลหลายๆ อย่างที่อาจนำไปปรับใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทอื่นๆ หรือการเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตได้ โดยเฉพาะคูหาเลือกตั้งป้องกันโควิด-19 และการป้องปรามการทุจริตเลือกตั้งที่อธิบายไว้ตั้งแต่ตอนต้น

“การจัดการทุจริตการเลือกตั้ง เริ่มเข้ารูปเข้ารอย ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันเหมือนตอนเลือกตั้ง อบจ. สักระยะ เลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปอาจดีขึ้น นี่อาจเป็นครั้งแรก ไม่เป็น มีซื้อบ้าง อะไรบ้าง (หัวเราะ) แต่ใครที่ทำต้องรับผลการกระทำนั้นไป เช่น ตำรวจที่บุกจับกุมคนซื้อเสียงตามที่เป็นข่าว เป็นต้น”

“ผมว่าหากอนาคตยังได้รับความร่วมมืออย่างนี้ การเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปน่าจะเป็นไปได้ดี” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ สรุป

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org/article/isranews/94823-iisranews-32.html)

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...