โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องวัคซีนโควิด-19 ว่า โรคโควิด-19 เป็นการติดต่อจากคนสู่คน ดังนั้นการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ลดกิจกรรมพบปะผู้คน และลดการเดินทาง จึงเป็นการตัดวงจรโรคได้ทางหนึ่ง และเมื่อมีวัคซีนก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค แต่กระบวนการนำวัคซีนโควิด 19 มาใช้ มีหลายขั้นตอน ทั้งการนำเข้าวัคซีน การขึ้นทะเบียน การตรวจสอบคุณภาพ การขนส่ง การเก็บรักษา แนวทางการฉีดให้ประชากร การเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์และประสิทธิภาพของวัคซีนภายหลังการฉีด เนื่องจากวัคซีนเป็นการนำเชื้อโรคที่ตายแล้วหรืออ่อนฤทธิ์ฉีดเข้าร่างกาย อาจเกิดผลข้างเคียง จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในต่างประเทศพบบางรายเกิดผลข้างเคียง บางรายเสียชีวิต ซึ่งจะมีการตรวจสอบว่าเกี่ยวเนื่องกับวัคซีนหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุข จะรวบรวมข้อมูลมาแจ้งให้ทราบเป็นระยะ
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย คณะกรรมการวิชาการเห็นชอบให้ดำเนินการเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 จัดหาวัคซีนไว้ 2 ล้านโดส แบ่งเป็นเดือน ก.พ. 2 แสนโดส มีนาคม 8 แสนโดส และเมษายน 1 ล้านโดส โดยฉีดคนละ 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 4 สัปดาห์ เป้าหมายคือการลดการป่วยที่มีอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ในพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดก่อนคือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด กลุ่มที่จะดำเนินการฉีดก่อนคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึง อสม. 8 หมื่นคน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค 2 หมื่นคน และบุคคลทั่วไปที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 9 แสนคน หากมีส่วนที่เหลือจะเก็บสำรองไว้กรณีเกิดการระบาดรุนแรงในชุมชนเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค
ระยะที่ 2 ช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2564 จำนวน 26 ล้านโดส ฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ
ระยะที่ 3 ช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 จะฉีดให้ประชาชนทั่วไปให้ครอบคลุมมากที่สุด ให้เกิดภูมิคุ้นกันในชุมชน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้นำเข้าและขนส่งกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างครอบคลุม โดยจะเริ่มลงทะเบียนตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงที่จะฉีดวัคซีนปลายเดือนม.ค.ถึงต้นเดือน ก.พ. จัดระบบและซักซ้อมความเข้าใจในการฉีดวัคซีน การขนส่ง การเก็บรักษา และการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน