ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาตรวจโรค 6 เดือน ให้คนต่างด้าวตามมติ ครม.วันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติ ครม.วันที่ 4 สิงหาคม 2563 มติ ครม.วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 และมติ ครม.วันที่ 29 ธันวาคม 2563 เหตุโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทบขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทำให้คนต่างด้าวดำเนินการไม่ทัน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ ขยายขอบเขตการแพร่ระบาดโรคเป็นวงกว้าง กระจายในหลายพื้นที่ รัฐบาลจึงต้องเพิ่มความเข้มข้นของการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งก่อให้เกิดข้อจำกัดและมาตรการทางด้านสาธารณสุขส่งผลเป็นลูกโซ่ ประกอบกับมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายบุคคลไปมาระหว่างพื้นที่ หรือท้องที่ ที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคสูง ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาจะทำให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว สิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อไปได้
“กระทรวงแรงงาน มุ่งมั่นปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าวที่อยู่และทำงานในประเทศไทย ในด้านสุขภาพอนามัย การป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งปัญหาของนายจ้าง/สถานประกอบการในประเทศไทย ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2564 จึงมีมติเห็นชอบให้ทบทวนแนวทางการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้ดำเนินการมา และเตรียมนำเสนอแนวทางแก้ไขข้อขัดข้องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด - 19" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน เตรียมเสนอแนวทางแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 4 กลุ่ม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. แรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นทุกกระบวนการแล้ว จำนวน 1,162,443 คน ซึ่งได้รับการอนุญาตทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 และได้รับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 รวมแล้วเป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวไปดำเนินการตรวจสุขภาพ และดำเนินการขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
2. แรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 แบ่งเป็น 2 ประเภทตามเอกสารประจำตัว ดังนี้
1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งต้องตรวจสุขภาพ และตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31มกราคม 2564 จำนวน 201,771 คน สามารถขยายเวลาดำเนินการ ออกไปอีก 6 เดือน โดยต้องแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 จากนั้นจัดทำ/ปรับปรุง ทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังบัตรกับหน่วยงานของกรมการปกครอง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 ทั้งนี้ ให้แรงงานต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานคู่กับใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานที่ได้รับจากกรมการจัดหางาน เป็นหลักฐานแทนใบอนุญาตทำงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานที่อยู่ด้านหลังบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรผ่านแดน กำหนดให้ขอรับอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานก่อนที่การอนุญาตทำงานเดิมสิ้นสุด และจะได้รับอนุญาตทำงานครั้งละไม่เกิน 3 เดือน ต่อเนื่องได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565 จำนวน 36,173 คน สามารถขยายระยะเวลาการใช้ใบรับรองแพทย์ ประกอบการขออนุญาตทำงานออกไปอีก 6 เดือน โดยต้องใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบการขออนุญาตทำงานในครั้งที่ 4 (รอบการอนุญาตทำงานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564)
3. แรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลง หรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี จำนวน 119,094 คน และการจ้างงานครบ 2 ปี จำนวน 315,690 คน ที่ต้องมีการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งหากไม่ได้ขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน หรือขอรับใบอนุญาตทำงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ต่อไปได้ จึงต้องดำเนินการ ดังนี้
1) กรมการจัดหางานรับคำขออนุญาตทำงานและพิจารณาอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงานตามแนวทางปกติ และแรงงานต่างด้าวต้องนำใบรับรองแพทย์ส่งให้กรมการจัดหางานภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตทำงาน ทั้งนี้ หากแรงงานต่างด้าวไม่นำส่งใบรับรองแพทย์ภายในเวลาที่กำหนด จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน
2) ขยายระยะเวลาในขั้นตอนการตรวจสุขภาพ และขั้นตอนการขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป อีก 6 เดือน นับแต่วันที่การอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเดิมสิ้นสุด เพื่อดำเนินการตรวจสุขภาพ และการดำเนินการขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
4. แรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 กำหนดให้แรงงานต่างด้าวไปจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด - 19 กับกระทรวงสาธารณสุข ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ทั้งนี้หากไม่สามารถตรวจโรคต้องห้าม 6 โรคทัน ให้ใช้เฉพาะใบรับรองผลการตรวจโควิด – 19 ประกอบการยื่นขออนุญาตทำงาน และต้องนำใบรับรองแพทย์โรคต้องห้ามส่งให้กรมการจัดหางานภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 และแรงงานต่างด้าวไปทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังบัตรกับกรมการปกครอง โดยกรณีเป็นคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และกรณีเป็นคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ ต้องให้คนต่างด้าวรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุก 90 วัน นับแต่วันที่คนต่างด้าวได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังบัตร
ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ