ธนาคารเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จับมือ กรมการจัดหางาน โดยกระทรวงแรงงาน หนุนแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ พร้อมสานต่ออาชีพ ผ่านสินเชื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแรงงานไทยหลังกลับจากทำงานต่างประเทศ หวังสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย เผยปีที่ผ่านมาสนับสนุนเกษตรกรและครอบครัว กรมการจัดหางานหนุนหลังแรงงานไทยทำงานต่างประเทศจำนวน 81,701 คน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. เตรียมอำนวยสินเชื่อให้แก่แรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศที่จัดส่งโดยกรมการจัดหางานและบริษัทจัดหางาน วงเงินกู้ไม่เกิน 250,000 บาท ต่อราย คิดดอกเบี้ยในอัตราลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี ผู้กู้สามารถใช้อสังหาริมทรัพย์จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้หรือใช้ลูกค้าในกลุ่มเดียวกันค้ำประกันหนี้เงินกู้จำนวน 2 คน
“อีกทั้งยังสามารถใช้ลูกค้าในกลุ่มเดียวกันค้ำประกันร่วมกลุ่ม 5 คน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้แล้วเสร็จไม่เกิน 12 เดือน และไม่เกินสัญญาจ้างงาน โดยชำระคืนเท่ากันทุกงวด และในโอกาสครบรอบ 50 ปี ธ.ก.ส. ธนาคารจัดโปรโมชั่นพิเศษลดค่าธรรมเนียมโอนเงินกลับบ้านให้แก่แรงงานไทย 50 % อีกด้วย” นายอภิรมย์ กล่าว
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการประกอบไปด้วย 1. ผู้ขอรับสินเชื่อเป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. กู้เงินเพื่อตนเอง เพื่อคู่สมรส เพื่อบุตร หรือเพื่อคู่สมรสของบุตรที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและอยู่ในอุปการะ หรืออยู่ในครัวเรือนเดียวกัน 2. ผ่านการทดสอบและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์กรมการจัดหางานกำหนดและผู้ว่าจ้างให้ทำงานในต่างประเทศกำหนด 3. ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการกงสุล สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น และ 4. ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศที่จะไปทำงานโดยได้รับวีซ่า (VISA WORK PERMIT) จากประเทศนั้นๆ หรือวีซ่า (VISA) ประเภทอื่นๆ ตามที่กำหนดในแต่ละประเทศ นอกจากนั้น ธ.ก.ส.ยังให้บริการทางการเงินด้านอื่นๆ อาทิเช่น การบริการรับฝากเงิน การบริการโอนเงินระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการบริการทางการเงินอื่นๆ เกี่ยวข้องอีกด้วย
ด้าน นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้ร่วมมือกับ ธ.ก.ส.ในครั้งนี้เพื่อสนับสนุนแรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานในต่างประเทศ ให้ได้รับการดูแลในเรื่องการจ้างงานและผลตอบแทนที่เป็นธรรม ได้รับสวัสดิการและมีความเป็นอยู่ที่ดี มีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับแรงงานไทยและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้รายงานยอดการส่งออกแรงงานไทยไปยังต่างประเทศแล้วถึง 1,663,280 ราย สามารถทำรายได้ส่งกลับเข้าประเทศได้ถึง 83,161 ล้านบาท ด้านผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการไปทำงานต่างประเทศ จนถึงปัจจุบัน ให้แรงงานไทยไปแล้วทั้งสิ้น 96,064 ราย รวมวงเงินสินเชื่อที่ปล่อยให้แรงงานไปทำงานที่ต่างประเทศ 12,686 ล้านบาท
สำหรับแรงงานไทยที่สิ้นสุดสัญญาจ้างงานแล้ว เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย จะได้นำเอาองค์ความรู้ ทักษะประสบการณ์และความชำนาญที่ได้รับขณะปฏิบัติงานในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพในประเทศไทย นำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนของเกษตรกร เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย ธ.ก.ส. จะเข้ามาทำหน้าที่อำนวยสินเชื่อให้แก่แรงงานไทยดังกล่าวตามโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ 4 ต่อปี รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรหรือธุรกิจเกษตรอย่างมีศักยภาพเพียงพอ ผ่านศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม SMEs เกษตร ของ ธ.ก.ส. ทั้งในด้านการบริหาร การเงินและการบัญชี การตลาด เทคโนโลยีการผลิต ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนและป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานจากถิ่นที่อยู่อาศัย สร้างความมั่งคั่งและยั่งยืนต่อครอบครัวเกษตรกรและคนในชุมชน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม
ส่วน นาง จันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงประเด็นการส่งออกแรงงานว่า การส่งออกแรงงานไทยที่มีฝีมือยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้างหรือช่างเจียระไนอยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อมีการส่งออกมากทำให้บุคลากรภายในประเทศขาดแคลนตามไปด้วย จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาศักยภาพประชาชนในประเทศให้มีความสามารถที่มากกว่านี้ เช่น เกษตรกรก็ควรทำงานด้านอื่นๆ นอกจากปลูกพืชผักผลไม้เพียงอย่างเดียว
“แรงงานไทยศักยภาพสูงมีจำนวนมาก แต่ยังขาดแรงงานทักษะสูงซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก แต่หากมีการส่งออกแรงงานไทยคุณภาพออกไปสู่การเวที โลก ก็อาจทำให้ขาดแรงงานไทยในตลาดแรงงานก็เป็นได้ สิ่งสำคัญคือการสร้างองค์ความรู้และเพิ่มพูนทักษะให้กับแรงงานไทยให้มี ศักยภาพสูงขึ้นและสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับต้องให้ทักษะงานที่เป็นความต้องการของตลาดมากขึ้น อาทิ ทักษะด้านเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสส่งออกแรงงานไปสู่ตลาดประเทศได้มากขึ้นอีกด้วย” นาง จันทิรา กล่าว